ครบเครื่อง เรื่องลำโพง PA

 ลำโพงPA คืออะไร

ลำโพงPA รวบรวมข้อมูลต่างๆแบบรอบด้าน เช่น ส่วนประกอบ กำลังวัตต์ ประเภทของดอก ประเภทของตู้ การต่อลำโพงหลายตัวเข้าด้วยกัน ลำโพง ต้องดังแค่ไหนถึงจะดี เลือกใช้ลำโพงอย่างไร ให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อให้ทุกท่านมีความรู้ สามารถตัดสินใจเลือกใช้ลำโพงได้เหมาะสมและคุ้มค่า

ลำโพง PA
วัตต์ลำโพง
ลำโพง
สารบัญ : คลิกเพื่ออ่าน
ไปยังสารบัญ

   ลำโพง คืออะไร   

ลำโพงทำงานโดยเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานเสียง ใช้อากาศเป็นตัวกลางในการเคลื่อนที่ของคลื่นเสียงเพื่อให้เคลื่อนที่มาถึงหูของคนเรา เป็นอุปกรณ์สำคัญลำดับสุดท้ายในระบบเสียง ในอุดมคติ ลำโพงจะต้องถ่ายทอดเสียงโดยไม่สูญเสียคุณภาพและเนื้อหาของเสียงต้นฉบับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ลำโพงมีความผิดเพี้ยนเกิดขึ้น จึงใช้อุปกรณ์เสียงอื่นๆ เข้ามาช่วยปรับแต่งเสียง เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นนั่นเอง

ทำไม ลำโพงPA ถึงต้องมีหลายชนิด

อุปกรณ์ทุกชิ้นบนโลกนี้ มีข้อจำกัดในการทำงาน ลำโพงก็เช่นกัน จำเป็นต้องมีหลายชนิด เพราะลำโพงแต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ลำโพงบางตัว เหมาะกับงานกลางแจ้ง แต่กลับไม่เหมาะกับงานในห้อง ลำโพงบางตัวเสียงดีแต่ไม่ดัง ลำโพงบางตัวดังแต่เสียงกลับไม่ดี ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ผลิตได้คำนึงถึงลักษณะการใช้งานที่หลากหลาย ตลอดจนคิดถึงความคุ้มค่าของผู้ใช้นั่นเองครับ
ไปยังสารบัญ

   ส่วนประกอบของดอกลำโพงที่ควรรู้   

          ทำความรู้จักถึงส่วนประกอบของดอกลำโพง การทำงานของแต่ละองค์ประกอบเป็นอย่างไร มาเรียนรู้กันจากบทความนี้ครับ
รูปแสดงโครงสร้างของดอกลำโพง ขอบคุณรูปภาพจาก Parts of a Speaker

Suspension (ขอบยึดไดอะแฟรม)

         เป็นขอบของไดอะแฟรม มีความยืดหยุ่น ติดอยู่กับเฟรม สามารถเคลื่อนที่ขึ้นและลงได้ในระดับหนึ่งช่วยในเรื่องการสั่นสะเทือนของไดอะแฟรม

Basket (โครงของลำโพง)

          นิยมทำมาจากวัสดุต่างๆเช่นเหล็กกล้า อลูมิเนียม เน้นความแข็งแรง เพื่อให้ส่วนประกอบของลำโพงอยู่ในต่ำแหน่งที่เหมาะสม ไม่ผิดเพี้ยนเมื่อเวลาที่มีการขยับหรือทำงานของดอกลำโพง ข้อดีของ Basket ยังมีส่วนช่วยระบายความร้อนที่เกิดขึ้นภายใน Voice Coil อีกด้วย

Spider (สไปเดอร์)

          มีความยืดหยุ่น ลักษณะเหมือนลูกฟูก ทำหน้าที่รองรับการเคลื่อนที่ของ Voice Coil (วอยซ์คอยล์) ให้อยู่ในตำแหน่งที่สมดุล สไปเดอร์ มีความสำคัญมากในช่วงย่านเสียงที่มีความถี่ต่ำ ซึ่งสไปเดอร์เป็นตัวกำหนดกขอบเขตการเคลื่อนที่ของ โคนและวอยซ์คอยล์ ว่าสามารถเคลื่อนที่ได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อเสียงที่เกิดขึ้นมาจากดอกลำโพงนั่นเอง

Magnet (แม่เหล็ก)

          ซึ่งเป็นแม่เหล็กถาวร ทำหน้าที่สร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าตัดกับสนามแม่เหล็กที่เกิดจาก Voice Coil ซึ่งการตัดกันทำให้เกิดการขยับของลำโพง ขึ้น – ลง ลำโพงส่วนใหญ่แม่เหล็กจะมีรูปร่างเป็นวงแหวนทำมาจากเซรามิกระบายความร้อนที่เกิดจากการบีบอัดที่ถูกสร้างขึ้น และป้องกัน Voice Coil ไม่ให้มีอุณหภูมิสูง

Voice Coil (วอยซ์คอยล์)

          ส่วนประกอบที่สำคัญมากของดอกลำโพง Voice Coil จะยึดติดอยู่กับ สไปเดอร์ มีลักษณะเป็นแผ่นวงกลมเหมือนแหวน สไปเดอร์จะยึดคอยส์เสียงให้อยู่ในตำแหน่งเดิม และทำหน้าที่ เหมือนกับสปริง โดยจะสั่นสะเทือน เมื่อมีสัญญาณไฟฟ้าเข้ามาทำให้เกิดการขยับขึ้นลงกลายเป็นเสียงที่ดังออกมา

Dust Cap (หมวกลำโพง)

         รูปร่างคล้ายคลึงหมวกครึ่งวงกลม ติดอยู่ตรงกลางของแผ่นไดอะแฟรม ทำหน้าที่ป้องกันสิ่งสกปรกเข้าสู่วอยซ์คอยล์ ถ้าหากมีฝุ่นไปจับที่วอยซ์คอยล์ จะทำให้เกิดความเสียหายได้ นอกจากนี้ยังช่วยระบายความร้อนที่เกิดขึ้นจากวอยซ์คอยล์โดยการอัดให้อากาศเคลื่อนที่ ตามแรงสั่นสะเทือนของดอกลำโพง

สรุป

          ดอกลำโพงทั่วไป มีส่วนประกอบต่างๆ คล้ายๆกัน จะเเตกต่างกันไปตามขนาด และประเภทของดอกลำโพง ส่วนประกอบที่กล่าวมา ต่างทำหน้าที่เฉพาะตัวของมัน เมื่อชิ้นส่วนทุกชิ้นทำงานร่วมกัน จะเกิดเป็นเสียงจากลำโพงที่เราได้ยินกันนั่นเอง
ไปยังสารบัญ

   กำลังวัตต์ของลำโพงคืออะไร มีวิธีดูอย่างไร   

ลำโพงPA แต่ละตัว มีกำลังวัตต์ไม่เท่ากัน แตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน บทความนี้ จะมาบอกเรื่องกำลังวัตต์ของดอกลำโพงกันให้ทราบครับ

วัตต์ (watts) คืออะไร

          เป็นค่าบ่งชี้ความสามารถของตู้ลำโพง หรือ ดอกลำโพงนั้นๆ ว่าสามารถรองรับกำลังขับจากเครื่องขยายเสียง (Power Amplifier) ได้มากหรือ น้อยเพียงใด โดยผู้ผลิต จะบอกมาเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ หรือตัวเลข ซึ่งถ้าระบุมาค่าสูงๆ แสดงว่าลำโพงตัวนั้น สามารถรองรับกำลังได้สูงนั่นเอง เราเรียกค่านี้อีกอย่างว่า Power Handling
รูปแสดงค่าพลังงานของวัตต์ rms, program, peak

Power Handling ของดอกลำโพง

         ถูกแบ่งออกเป็น 3 ค่า เนื่องจากมีความแตกต่างในการทดสอบลำโพงที่แตกต่างกันไป 3 ระดับ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่

Watt RMS หรือ Continuous Power

          เป็นค่าที่ได้จากการทดสอบด้วยการป้อนกำลังขับแบบต่อเนื่องด้วยสัญญาณ Sine Wave ติดต่อกันตามเวลาที่กำหนดโดยที่ดอกลำโพงไม่เสียหาย ยิ่งค่า RMS สูงเท่าใดความสามารถในการรองรับกำลังวัตต์ของลำโพงก็จะยิ่งมากขึ้น ตัวอย่างเช่น 100W RMS, 500W RMS หรืออื่น ๆ การใช้เครื่องขยายเสียงร่วมกับดอกลำโพง ควรมีกำลังวัตต์  RMS มากกว่ากำลังของดอกลำโพง

Watt Program

          เป็นค่าที่มากกว่า Watt RMS 1 เท่า ซึ่งเป็นค่าชั่วขณะ มีระดับความแรงของสัญญาณไม่ต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น Watt RMS เท่ากับ 1200 W Watt Program จะเท่ากับ 2400 W นั่นเอง

Watt Peak

          เป็นค่าที่มากกว่า Watt Program 1 เท่า เป็นค่าสูงสุด ที่ลำโพงสามารถทำงานได้ในชั่วขณะหนึ่ง

วิธีดูกำลังวัตต์ ของตู้ลำโพง หรือดอกลำโพง

          ผู้ผลิต จะกำหนดค่ากำลังวัตต์มาให้ที่รายละเอียดทางเทคนิค หรือเรียกสั้นๆว่า สเปค จะมีคู่มือการใช้งาน หรือระบุไว้ที่กล่อง หรือหลังตู้ลำโพง ถ้าหากว่าไม่สะดวกที่จะดูในคู่มือ ก็สามารถค้นหาได้ที่อินเทอร์เน็ต โดยใช้ชื่อยี่ห้อ หรือชื่อรุ่นของของลำโพง เป้นคีย์เวิร์ดได้เลยครับ

กำลังวัตต์ของลำโพง มีประโยชน์อย่างไร

          กำลังวัตต์ สามารถใช้เป็นตัวเลือกประกอบการตัดสินใจซื้อลำโพง หรือซื้อเครื่องขยายเสียง ที่เหมาะสมกับลำโพงได้ เช่น การตรวจสอบกำลังวัตต์ของดอกลำโพง เพื่อจะเลือกซื้อเพาเวอร์แอมป์ซักตัว ไว้ใช้งานร่วมกับลำโพงดอกนั้นอย่างเหมาะสม เพื่อให้ดอกลำโพงและเพาเวอร์แอมป์ มีประสิทธิภาพในการทำงาน
ไปยังสารบัญ

   ประเภทของดอกลำโพง มีกี่แบบ   

1.Full-range drivers

          ดอกลำโพงแบบ full-range ให้ความถี่เสียงได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะลำโพง Full-range จะเป็นดอกลำโพงเเพียงดอกดียวเท่านั้น แต่สามารถให้เสียงได้ครบทุกช่วงเสียง ส่วนใหญ่ความดังไม่ค่อยมาก เพราะต้องแลกมาด้วยเสียงเกือบทุกย่านควาามถี่ จะสามารถพบเห็นดอกลำโพงชนิดนี้ได้ตามลำโพงพกพา ลำโพงบลูทูธ วิทยุทรานซิสเตอร์ ฯลฯ

2.Subwoofer

          ส่วนมากเป็นดอกลำโพงขนาดใหญ่ แสดงผลความถี่ต่ำประมาณ 20-200 Hz หากเป็นดอกลำโพงขนาดใหญ่หรือกำลังวัตต์สูงๆ จะตอบสนองความถี่ได้ต่ำกว่า 100 Hz  ลำโพงซับวูฟเฟอร์สร้างขึ้นมาเพื่อเติมเต็มเช่วงความถี่ต่ำในระบบเสียง คำว่า “ซับวูฟเฟอร์” ในทางเทคนิคจะหมายถึง ดอกลำโพงเท่านั้น แต่โดยทั่วไปที่เราใช้พูดและเข้าใจกันมักจะหมายถึง ตู้ลำโพง ด้วย พบเห็นได้ทั่วไปในงานการแสดงดนตรี หรืองานเปิดเพลง ฯลฯ

4. Mid-range driver

         ลำโพงเสียงกลางเป็นดอกลำโพงที่ทำย่านความถี่ระหว่าง 250-2,000 Hz หรือที่เรียกว่า ‘mid’ frequency จะมีการให้เสียงกลางๆ ส่วนมากจะเป็นเสียงร้อง ขนาดของดอกลำโพงปานกลาง ส่วนมากจะถูกบรรจุอยู่ในตู้ลำโพงรวมกับดอกลำโพงเสียงแหลม (Tweeter)

5. Tweeter

          ดอกลำโพงทวีตเตอร์หรือลำโพงเสียงแหลมเป็นลำโพงชนิดที่ออกแบบมาเพื่อให้มีความถี่เสียงสูง โดยปกติจะตอบสนองความถี่ประมาณ 2,000 HZ ถึง 20,000 Hz  โดยดอกเสียงแหลมคุณภาพสูงๆบางตัว สามารถถ่ายทอดความถี่สูงได้ถึง 100 kHz ขนาดของดอกลำโพงค่อนข้างเล็ก ส่วนมากจะถูกบรรจุอยู่ในตู้ลำโพงรวมกับดอกลำโพงเสียงกลาง (Mid-range) ชื่อเรียก Tweeter นี้ได้มาจากการเปรียบเทียบเหมือนกับเสียงแหลมที่สูงๆของนกบางชนิด

6. Coaxial drivers

          ดอกลำโพง Coaxial คือลำโพงที่มีไดรฟเวอร์ตั้งแต่สองตัวขึ้นไป ติดตั้งอยู่แกนกลางเดียวกัน มีการรวมกันของดอก Tweeter และ Mid-Range เพื่อให้เสียงพุ่งออกมาจากจุดเดียวกัน มีข้อดีตรงที่ดอกลำโพง 1 ดอก จะตอบสนองความถี่ได้กว้างกว่าดอกปกติ และจะเกิดการหักล้างของเสียงกลางและเสียงแหลมน้อยมาก เนื่องจากศูนย์กลางของแหล่งกำเนิดเสียงอยู่ตำแหน่งเดียวกัน นิยมใช้ทำตู้มอนิเตอร์ ลำโพงรถยนต์ ฯลฯ

ตารางแสดงการตอบสนองความถี่โดยประมาณ ของดอกลำโพงทั้ง 5 ชนิด

สรุป

          ดอก Full-range อาจตอบสนองช่วงความถี่ที่กว้าง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความดังที่ไม่มาก แต่ดอก Subwoofer  Mid-range และTweeter ถึงจะให้ช่วงความถี่ที่ไม่กว้างนัก แต่ความดังและคุณภาพที่ออกจากดอกลำโพง ดีกว่าดอก Full-range แน่นอน
          ดอก ลำโพงPA มีหลายประเภท จุดเด่นของแต่ละประเภทก็จะแตกต่างกันออกไปตามการใช้งาน ซึ่งตอบโจทย์ในแต่ละความถี่แตกต่างกันไป เมื่อใช้งานร่วมกันอย่างถูกวิธี จะช่วยเสริมคุณภาพของเสียงออกมาให้ดียิ่งขึ้นไป 
ไปยังสารบัญ

   รู้จักกับประเภทของตู้ ลำโพงPA   

มีดอกลำโพง ก็ต้องมีตู้ลำโพงด้วย สองสิ่งนี้เป็นของคู่กันครับ ตู้ลำโพงทำหน้าที่เป็นอะคูสติกของดอกลำโพงช่วยให้เสียงที่ออกมา ดีมากขึ้นตามลักษณะของตู้ลำโพง การออกแบบตู้ลำโพงนั้นต้องคำนึงถึงความเข้ากันได้ของดอกลำโพงและตู้ลำโพงด้วย โดยต้องอ้างตามค่าพารามิเตอร์ของดอกลำโพง มาเป็นค่าทีี่ใช้ในการคำนวณ  ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของตู้ลำโพง ก้คือเป็นเกราะป้องกันดอกลำโพงไม่ให้เกิดความเสียหายอีกด้วย
ตู้ลำโพง PA มีอยู่ด้วยกันหลายแบบมาก ผู้เขียนจะยกตัวอย่างประเภทตู้ลำโพงที่คุ้นหน้าคุ้นตา ซึ่งมีคุณสมบัติที่่ต่างๆกัน ซึ่งจะแบ่งออกไปตามลักษณะการใช้งานครับผม
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า

ตู้ลำโพงพอยซอร์ส

          พบเห็นได้ทั่วไป ตามสถานที่จัดงานต่างๆ ซึ่งตู้ลำโพงแบบพอยซอร์ส ให้ความถี่ค่อนข้างครบ เสียงกลางแหลมชัดเจน รายละเอียดดี เสียงย่ายความถี่ต่ำอาจจะไม่มากนัก ด้วยขนาด และดอกลำโพง ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับงานทั่วไป เช่นงานพูด งานดนตรี งานอีเวนท์ ที่ต้องการความดังระดับหนึ่ง พื้นที่งานไม่ใหญ่มาก มีมุมกระจายเสียงที่กว้าง ลำโพงใบเดียวสามารถกระจายเสียงได้ทั่วถึงทั้งงาน การเลือกใช้งานขึ้นอยู่กับพื้นที่ ถ้าพื้นที่กว้างมาก ความดังตู้ 1 ใบ ไม่พอ ก็ต้องเพิ่มจำนวนตู้เข้าไป บางงาน เป็นการแสดงดนตรี มีเครื่องดนตรีย่านความถี่ต่ำ ก็สามารถนำตู้ลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาใช้งานร่วมกับลำโพงพอยซอร์สได้ด้วย
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า

ตู้ลำโพงไลน์อาเรย์

          ส่วนใหญ่ใช้งานในระดับมืออาชีพ เป็นลำโพงที่แขวนต่อกันหลายๆ ใบอยู่สูงเหนือศรีษะ จะสูงมากหรือสูงน้อยก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม จุดเด่นคือให้เสียงที่ดัง ชัดเจน พุ่งไกล แต่มุมกระจายเสียงค่อนข้างแคบ หากต้องการใช้งาน ควรใช้ร่วมกันหลายๆใบ เพื่อให้เสียงครอบคลุมพื้นที่ ตู้ลำโพงไลน์อาเรย์ กำหนดองศามุมกระจายเสียงได้ ลำโพงชนิดนี้ ถูกออกแบบมาทดแทนข้อจำกัดของลำโพงชนิดอื่นที่ไม่สามารถทำได้ นิยมใช้ในงานคอนเสริต หรืองานกิจกรรมกลางแจ้งขนาดใหญ่ รองรับผู้คนจำนวนมาก ตู้ลำโพงไลน์อาเรย์ส่วนใหญ่จะให้ความถี่ย่านกลางแหลม ใช้งานร่วมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ แต่ลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่ใช้แขวนก็มี แต่จะพบเจอได้ไม่มาก

ตู้ลำโพงไลน์อาเรย์ กับ ตู้ลำโพงแขวน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร  

          ตู้ลำโพงไลน์อาเรย์ถูกออกแบบมาด้วยความพิถีพิถันในเรื่องของมุมกระจายเสียง และรายละเอียดเสียง โดยใช้เทคนิคต่างๆ ตามแบบฉบับของผู้ผลิตนั่นเอง แต่ลำโพงแขวน อาจจะเป็นลำโพงธรรมดาๆใบหนึ่ง ที่แขวนได้นั่นเอง เนื่องด้วยราคาตู้ลำโพงไลน์อาเรย์ที่ค่อนข้างสูง การที่จะซื้อหรือเช่ามาใช้งานเป็นเรื่องยาก จึงเกิดการเลียนแบบลักษณะตู้ลำโพงชนิดนี้มากมายกันเลยทีเดียว เพราะว่าทุกวันนี้ คนต่างเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น มีความรู้มากขึ้น จึงคิดค้น พัฒนา มาเป็นตู้ลำโพงในแบบฉบับของตัวเอง ทำใช้เองบ้าง ทำขายบ้าง ผู้ผลิตบางเจ้า อาจได้รับความนิยมสูง จนถึงทำเป็นอาชีพ เเละประสบความสำเร็จเลยก็มี ทั้งนี้ทั้งนั้น คงไม่ได้มาด้วยเพราะความบังเอิญ แต่ได้มาด้วยคุณภาพอันเป็นที่ยอมรับนั่นเองครับ

ตู้ลำโพงคอลัมน์ 

          ออกแบบมาเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของไลน์อาเรย์และพอยซอร์ส มีมุมกระจายเสียงที่เหมาะกับการใช้งานภายในห้อง ช่วยลดการสะท้อนของเสียงที่เกิดขึ้น เป็นตู้ลำโพงที่มีดอกลำโพงขนาดเล็ก เรียงกันเป็นแถวตามแนวดิ่ง บางรุ่น มีลำโพงซับวูฟเฟอร์อยู่ด้วย เพื่อให้การตอบสนองความถี่เสียงในย่านต่ำดีขึ้นนั่นเอง ปัจจุบันนิยมออกแบบมาให้เล็ก กระทัดรัด ใช้งานง่าย เสียงดี โดยไม่ต้องปรับแต่งเสียงอะไรมาก นิยมใช้ในงานอีเวนท์ งานดนตรีเล็กๆ งานสัมมนา ปาร์ตี้ ฯลฯ ที่ไม่ต้องการความดังมาก แต่อยากได้รายละเอียดเสียงที่ดี
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า

ตู้ลำโพงซับวูฟเฟอร์

          ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเสริมความถี่ต่ำๆ มักมีขนาดดอกและตู้ที่ใหญ่ เนื่องจากต้องการรีดความถี่เสียงต่ำๆ ออกมา ตู้ลำโพงชนิดนี้ ใช้ร่วมกับลำโพงเสียงกลางแหลมได้เกือบทุกชนิด แต่ก็ต้องคำนึงถึงปริมาณจำนวนตู้ที่เหมาะสม ระหว่างตู้ซับวูฟเฟอร์ และตู้กลางแหลม เพื่อให้เสียงออกมาครบถ้วนและดีนั่นเอง

สรุป

          ตู้ลำโพงชนิดดังกล่าวนี้ มีลักษณะจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันออกไป จะตอบโจทย์ตามลักษณะงานที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นผู้ผลิต จึงได้คิดค้นออกแบบตู้ลำโพงออกมาหลายชนิด เพื่อที่จะได้รองรับความต้องการในการได้ยินเสียงที่ดี เหมาะสมกับลักษณะงาน ผู้ใช้งานก็ต้องคำนึงด้วยว่า เราใช้ลำโพงเหมาะสมกับลักษณะงาน และคุ้มค่าหรือเปล่า
ไปยังสารบัญ

   ตู้ซับวูฟเฟอร์ในโลกนี้ มีแค่ 3 แบบ   

          ตู้ลำโพงซับในโลกนี้มีตั้งหลายสูตร เช่น เทอร์โบ ผีเสื้อ ตู้W  ฯลฯ แต่ละสูตรใช้สัดส่วนและการคำนวณที่ต่างกัน นักเล่นเครื่องเสียงต่างพากันหาตู้ซับที่ให้เสียงดีที่สุดตามสไตล์ตัวเองอย่างไม่จบไม่สิ้น แต่รู้หรือไม่ว่า ตู้ลำโพงซับวูฟเฟอร์ แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ แค่ 3 ประเภทเท่านั้น คือ ตู้ปิด ตู้เปิด และตู้แบนพาส

ตู้ปิด (Sealed Boxes)

          ตัวตู้ลำโพงจะเล็กกว่าตู้แบบเปิด อากาศที่ถูกอัดจากดอกลำโพงจะออกด้านนอกเพียงด้านเดียว อีกด้านหนึ่งจะเปรียบสเมือนสุญญากาศ ข้อดีคือสามารถควบคุมกำลังวัตต์ของลำโพงได้ดี SPL ต่อเนื่องตามกำลังขับ ออกแบบค่อนค่างง่าย ให้เสียงที่เเน่น ตอบสนองความถี่ต่ำ ให้รายละเอียดสูง เสียงย่านกลางต่ำจะออกน้อยกว่าตู้เปิด นิยมใช้กันมากในการเเสดงดนตรีสดตามบ้านเรา ที่ต้องการความตึ๊บของเสียง 
เหมาะกับแนวเพลง ป๊อบ แจ๊ส คลาสสิค ฯลฯ  แนวเสียงให้รายละเอียดดี กระชับ
ตัวอย่างตู้ปิดกลางแจ้งที่นิยมในไทย เช่น บีวี(SPM) เทอร์โบ  ฯลฯ

ตู้เปิด (Ported Boxes)

          ส่วนใหญ่จะขนาดใหญ่กว่าตู้ลำโพงแบบปิด ดอกลำโพงจะอยู่ด้านหน้าของตู้เท่านั้น สามารถมองเห็นได้ชัด ไม่จำกัดว่าจะทำมุมเอียงหรือจะตรง อากาศที่ถูกอัดจากดอกลำโพงทั้งด้านหน้าและด้านหลังจะออกจากตู้โดยจะผ่านช่องทางเช่นท่อ หรือความโค้งของตู้ลำโพง ออกแบบค่อนข้างซับซ้อน โดยคำนึงถึงเรื่องคลื่นเสียงที่ออกมาทั้งสองด้าน ต้องเสริมกันและหักล้างกันไม่มาก เพื่อให้ตู้ลำโพงมีพลังสูง ตู้เปิด ให้เสียงเบสที่เยอะกว่าตู้ชนิดอื่น มีประสิทธิภาพการตอบสนองความถี่ได้ดี คุณภาพความดังค่อนข้างสูงกว่าตู้ปิด แต่เสียงย่านต่ำ จะสู้ตู้ปิดไม่ได้ 
เหมาะกับแนวเพลง ป๊อบ ร็อค แดนซ์ ฯลฯ  ให้เสียงเบส ดุดัน แรง ทุ้มลึก ลูกเบสใหญ่
ตัวอย่างตู้ปิดกลางแจ้งที่นิยมในไทย เช่น B1000 (A&J) เจบิน  Veda S118 (VL) ฯลฯ

ตู้แบนพาส (Bandpass Boxes)

          ออกแบบมาเพื่อผสมผสานจุดเด่นระหว่าง ตู้ปิด และ ตู้เปิด มีช่องให้อากาศออกด้านหน้าลำโพงซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกรองเสียงจากดอกลำโพง ขนาดตู้ลำโพงค่อนข้างใหญ่ ออกแบบได้ยืดหยุ่นกว่าตู้ลำโพงแบบปิด สามารถระบุการตอบสนองความถี่ของตู้ได้มากกว่าตู้เเบบปิดและตู้เเบบเปิด เพราะสามารถกำหนดการวางตำแหน่งของดอก ของช่องลมได้เอง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการออกแบบที่ยากกว่าตู้ปิดเเละตู้เปิด ถ้าออกแบบมาดีแล้ว เสียงจะออกมาดัง แล้วก็ดีแน่นอน
เหมาะกับแนวเพลง ป๊อบ แจ๊ส แดนซ์ ฯลฯ  ให้เสียงครอบคลุมพื้นที่ เสียงเบสดุดัน กระชัับ ชัดเจน
ตัวอย่างตู้ปิดกลางแจ้งที่นิยมในไทย เช่น ตู้W ออเดอร์6 ออเดอร์8 (GIP) ฯลฯ

สรุป

          ตู้ลำโพง ต้องมีการออกแบบมาเพื่อรองรับดอกลำโพงรุ่นต่างๆโดยเฉพาะ ผู้เล่นเครื่องเสียงมือใหม่อาจจะพบเจอปัญหาซื้อตู้ประกอบมาใส่ดอกเองแล้วเสียงไม่ดี ไม่สมตามที่ต้องการ เรื่องการเเมชดอกและตู้จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้ผลิตตู้ลำโพงที่ได้การยอมรับในวงการ ไม่ใช่อาศัยแค่การขึ้นรูปตีกล่องสี่เหลี่ยมเก่งเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความรู้ ทั้งด้านทฤษฏีและปฏิบัติเพื่อออกแบบตู้ลำโพง ให้ใส่ดอกลำโพงรุ่นนั้นๆ ดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้นั้นเอง
ขอบคุณผู้ผลิตตู้ลำโพงสูตรที่นำมาประกอบบทความครับ
ไปยังสารบัญ

  เมื่อต่อลำโพงเข้าด้วยกันหลายดอก จะเกิดอะไร  

ลำโพง
          1. เกิดความดัง ตามอุดมคติแล้ว หากมีแหล่งกำเนิดเสียง ที่เป็นเสียงเดียวกัน เป็นเสียงที่ออกมาในเวลาพร้อมกัน สิ่งที่ตามมา ก็คือ ความดัง ซึ่งจะดังมาก หรือจะดังน้อย หรือบางกรณี ทำให้เสียงเบาลงจากเดิม มาจากปัจจัยหลายๆด้าน จะสังเกตได้ว่า ในงานดนตรี หรือคอนเสริต มักใช้ลำโพงหลายสิบใบ หรือหลักร้อยใบ เพื่อให้เสียงออกมาดังครอบคลุมบริเวณงาน เพราะลำโพงดอกเดียว หรือตู้เดียว ไม่สามารถให้ความดังได้ครอบคลุมนั่นเอง
          2. ใช้พลังงานในการขับลำโพงมากขึ้น เมื่อเกิดความดังที่เพิ่มขึ้น พลังงานที่ใช้ไป ก็ต้องมากขึ้นตาม เพาเวอร์แอมป์ที่ใช้ ก็ต้องมีกำลังขับที่สูงมากกว่าเดิม ในการใช้งานจริง อาจจะใช้เพาเวอร์แอมป์ 1 ตัว ต่อดอกลำโพงมากกว่า 1 ดอก ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม และประสิทธิภาพในการทำงาน ของดอกลำโพงและเพาเวอร์แอมป์ด้วย
         3.  เกิดจุดที่เสียงดังและเกิดจุดที่เสียงบอด ที่บริเวณต่างๆ ไม่เท่ากัน เนื่องจากลำโพงที่ใช้ร่วมกันมีตำแหน่งที่ตั้งคนละจุด คลื่นเสียงที่เดินทางออกจากลำโพงแต่ละตัว กระจายออกไปเสริม และไปหักล้าง กับลำโพงอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกัน ทำให้ตำแหน่งต่างๆ เสียงไม่เหมือนกันเป๊ะ ผู้ที่ทำเกี่ยวกับระบบเสียง เช่นผู้ออกแบบระบบ ผู้ออกเเบบลำโพง จึงได้มีการคำนวณ เรื่องตำแหน่งตู้ลำโพง การปรับรายละเอียดยิบย่อย เพื่อลดปัญหานี้

วิธีในการต่อลำโพง โดยใช้แอมป์ร่วมกัน

คือการต่อวงจร ระหว่างเพาเวอร์แอมป์ 1 ช่องเอาท์พุต และดอกลำโพง มากกว่า 1 ดอก มีวิธีต่อวงจรอยู่ 3 แบบ ต่ออย่างไรบ้าง มาดูกัน

แบบขนาน (Parallel)

คือลำโพงแต่ละตัวรับสัญญาณโดยตรงจากแอมป์ ใช้สายไฟจากแอมป์ ลำโพงในระบบจะมีการเชื่อมต่อทั้งสองขั้ว บวกและลบ จะได้รับจากแอมป์โดยตรง ค่าอิมพีแดนซ์รวมที่เกิดขึ้น จะลดลง ส่งผลถึงการทำงานของเพาเวอร์แอมป์คือ เพาเวอร์แอมป์จะส่งกำลังเอาท์พุตมากขึ้นกว่าเดิม เหมือนการรีดกำลังที่เพาเวอร์แอมป์ให้มากขึ้น ข้อดีคือประหยัดเพาเวอร์แอมป์ สามารถขับลำโพงได้หลายดอกและให้กำลังสูงโดยเพาเวอร์แอมป์แท่นเดียว
ข้อเสียคือเพาเวอร์แอมป์ทำงานหนัก เพาเวอร์แอมป์บางตัว ไม่รองรับโหลดที่ค่าต่ำๆได้ อาจทำให้เกิดความเสียหายได้นั่นเอง การต่อวงจรแบบขนาน นิยมต่อใช้กับลำโพงที่ต้องการวัตต์สูงๆ เช่นลำโพงซับวูฟเฟอร์ขนาดใหญ่ 
การคำนวณวงจรแบบขนาน
อิมพิแดนซ์รวม = (1/Z1 ) + (1/Z2 ) + …  + (1/ZN )         เมื่อ Z คืออิมพีแดนซ์ของดอกลำโพงแต่ละดอก

แบบอนุกรม (Series)

ลำโพงจะถูกต่อกันไปเรื่อยๆ เป็นซีรีย์ การต่อแบบนี้ ช่วยเพิ่มความต้านทานได้ ส่งผลถึงการทำงานของเพาเวอร์แอมป์คือ เพาเวอร์แอมป์จะส่งกำลังเอาท์พุตน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากโหลดที่เอาท์พุตของเพาเวอร์แอมป์ มีอิมพีแดนซ์ที่สูง ข้อดีคือเพาเวอร์แอมป์ทำงานสบาย ไม่กินพลังงาน แต่ข้อเสียคือถ้าใช้เพาเวอร์แอมป์ที่กำลังขับไม่เเรงพอ ที่จะส่งให้ลำโพงแต่ละดอกโดยการต่อแบบอนุกรม ความดังโดยรวมที่ออกมา อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ การต่อวงจรแบบอนุกรม นิยมต่อใช้กับลำโพงที่ต้องการวัตต์ต่ำๆ เช่นดอกลำโพงเสียงแหลม
การคำนวณวงจรแบบอนุกรม
อิมพิแดนซ์รวม = (Z1 ) + (Z2 ) + …  + (ZN )             เมื่อ Z คืออิมพีแดนซ์ของดอกลำโพงแต่ละดอก

แบบผสม (Series-Parallel) 

เป็นการรวมกันของอนุกรมและการเชื่อมต่อแบบขนานซึ่งจะใช้ดอกลำโพงมากกว่า 2 ดอกขึ้นไป จึงจะทำได้ โดยการประยุกต์ใช้การต่อแบบขนาน และอนุกรมมาใช้งานร่วมกัน เพื่อจัดการกับอิมพีแดนซ์ และกำลังวัตต์ของลำโพง และเพาเวอร์แอมป์ให้เหมาะสมกัน
การคำนวณวงจรแบบผสม จะใช้สูตรการคำนวณของวงจรขนานและอนุกรมมาคิดร่วมกัน
คลิกที่นี่ https://www.atprosound.com/impedance/ เพื่อดูตัวอย่างการคำนวณการต่อวงจรลำโพงรูปแบบต่างๆ
          สิ่งที่สำคัญคือความต้านทานที่ถูกต่อเข้าเเอมป์ ในกรณีนี้ยิ่งมีอิมพีแดนซ์มากเท่าใด เพาเวอร์แอมป์ก็ต้องมีกำลังขับที่สูง ควรจัดสรรให้ความต้านทานของลำโพง สูงกว่าความต้านทานของแอมป์ เนื่องจากจะทำให้การทำงานของแอมป์และลำโพงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างค่าความต้านทานสำหรับการเชื่อมต่อลำโพงแต่ละแบบ

สรุป

          อิมพีแดนซ์ของลำโพงที่ใช้กันทั่วไปส่วนใหญ่คือ 8 โอห์ม การต่อพ่วงตู้ลำโพงนั้น ด้านหลังตู้ มักจะมีพอร์ตสำหรับการเชื่อมต่อสายลำโพงอีกชุดหนึ่ง ซึ่งส่วนมาก จะเป็นสายแบบขนาน ยกตัวอย่างเช่นการใช้ตู้ลำโพง 2 ตู้ โดยแต่ละตู้ มีอิมพีแดนซ์เท่ากับ  8 โอห์ม แต่เมื่อต่อขนาน ความต้านทานรวมจะลดลงเป็น 4 โอห์ม
ไปยังสารบัญ

   ลำโพง ต้องดังแค่ไหนถึงจะดี (เฮดรูม)   

          พื้นฐานความต้องการทางการได้ยินของหูมนุษย์ ความดังต้องเหมาะสม  ไม่ดังเกินจนอึดอัด หรือเบาเกินจนไม่ได้ยิน เพื่อให้หูทำงานแบบพอดีๆ ไม่สุดโต่งเกินไป การแสดงผลจากลำโพงก็เช่นกัน ลำโพงที่ใช้งาน ต้องทำงานอย่างพอดีๆ ไม่เปิดเบา หรือเปิดแรงสุดเท่าที่ลำโพงจะทำได้ เพราะฉะนั้นประเภท และจำนวนลำโพง จึงต้องเหมาะสมนั่นเอง
ลำโพงทำงานหนักเกินไป เกิดจากพื้นที่ที่ใหญ่เกินความสามารถในการครอบคลุมพื้นที่ของลำโพง อาจจะเป็นด้วยลำโพงมีขนาดเล็กเกินไป หรือมีจำนวนน้อยเกินไป จึงต้องเร่งเสียงให้ดังมากๆ จนบางครั้งลำโพงเสียงไม่ดี ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป ถ้าผู้ใช้งานระบบเสียงรู้จักกับเรื่องระดับเฮดรูมที่เหมาะสม
ขอบคุณรูปภาพจาก wikipedia Headroom (audio signal processing)

เฮดรูมของระบบเสียง (Headroom)

เฮดรูมของลำโพง PA คือค่าความสามารถในการถ่ายทอดความดังสูงสุดของลำโพงในระบบ ก่อนที่จะเกิดการแตกพร่าของเสียง เพราะต้องรองรับเสียงที่ดังกว่าปกติแบบชั่วขณะด้วย ยกตัวอย่างเช่นความดังของการแสดงวงดนตรี ที่มีความดังเฉลี่ยออกจากลำโพง 100dB  แต่มีบางช่วงที่เล่นเพลงเสียงดังกว่าปกติ  20dB เมื่อรวมกับความดังปกติ จะกลายเป็น 120dB เฮดรูมของลำโพงในระบบ จึงต้องมากกว่า 120dB อาจจะเป็น 130dB หรือ 140dB ตามความสามารถของอุปกรณ์ครับ

การคำนึงถึงเรื่อง เฮดรูม มีผลพลอยได้ที่ตามมาหลายอย่าง เช่น

          1. ป้องกันการหวีดหอนของลำโพง ต้นเหตุของการ Feedback หรือเสียงหอน เกิดจากเราเร่งลำโพงมากเกิน หรือเร่งไมค์ดังเกินพอดี เพราะว่าต้องการเสียงที่ดังเกินความพอดีของลำโพงจะทำได้ การเพิ่มจำนวนลำโพง เท่ากับ เพิ่มเฮดรูมให้กับระบบ ก็จะช่วยลดปัญหารการหอนได้ดีเลยทีเดียว
          2. ช่วยให้เสียงดีตลอดทั้งงาน การจัดงานที่มีการเเสดงบนเวทีหลายรูปแบบ เช่นมีการพูดเสวนาช่วงแรก และช่วงหลังจะเป็นการแสดงดนตรีสด การออกแบบระบบโดยคำนึงถึงเรื่องเฮดรูม ต้องอ้างอิงระดับเสียงที่ดนตรีสด เพราะดนตรีสดมีความดังของเสียงมากว่าเสียงพูด ถ้าหากจัดระบบเสียงโดยไม่คำนึงถึงเฮดรูม โดยจัดจำนวนลำโพงน้อยๆ เสียงช่วงแรกอาจจะดี เพราะเป็นเพียงการพูดคุย แต่เสียงช่วงหลังอาจจะเเตกพร่าไปเลย หรือดังน้อยกว่าเสียงเครื่องดนตรี เพราะจำนวนลำโพง ไม่เพียงพอต่อความต้องการนั่นเอง
           3. รักษาประสิทธิภาพของอุปกรณ์ไม่ให้พัง หรือเสื่อมเร็ว อุปกรณ์เสียงทุกชิ้น ผู้ผลิตได้กำหนดช่วงที่เหมาะสมต่อการทำงานมาให้เเล้ว ที่เหลือคือเราต้องปฏิบัติตามคู่มืออย่างเคร่งครัด ไม่ใช้งานหนักเกิน เมื่อใช้งานเเบบพอดีๆ  จะทำให้เครื่องเสียงที่เรารัก อยู่ทนอยู่นานยิ่งขึ้น

สรุป

           อุปกรณ์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ทั่วไปหรือเครื่องเสียง ล้วนมีข้อจำกัดด้านเฮดรูม (Headroom) ในตัวเอง ผู้ใช้งาน ผู้ดูแล ผู้ออกแบบ ระบบเสียงทุกลักษณะงาน ต้องคำนึงถึงเรื่องความดังที่เหมาะสม การเผื่อทรัพยากร ให้เหลือเพียงพอ เพื่อรองรับเหตุการที่มีการใช้งานหนักหน่วงมากกว่าปกติในชั่วขณะ เพื่อส่งผลดีต่ออุปกรณ์ที่ใช้ไม่ให้เสื่อมประสิทธิภาพ หรือพังเร็วเกินไปครับ
ไปยังสารบัญ

   เลือกลำโพงอย่างไร ให้เหมาะสมกับการใช้งาน   

          วิธีการเลือก ลำโพง PA ให้เหมาะสมกับลักษณะงาน เพื่อให้เสียงที่ดี ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องคุณภาพ และราคา เนื่องจากลำโพงแต่ละประเภท มีขีดจำกัดในการทำงานที่แตกต่างกัน การเลือกใช้ลำโพง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

คำนึงถึงสถานที่จัดงาน ภายใน หรือภายนอกอาคาร 

          – ลำโพงที่ใช้ในงานภายใน ควรเป็นลำโพงที่ให้ความดังไม่มาก เหมือนลำโพงกลางแจ้ง เนื่องจากห้องทำหน้าที่เสมือนอคูสติก การสะท้อนของเสียงเกิดขึ้นได้ง่าย ควรใช้ความดังที่เหมาะสม ถ้าหากใช้ความดังมากจนเกินไป จะเกิดการสะท้อนของเสียง ทำให้ฟังไม่รู้เรื่อง
          – ลำโพงที่ใช้งานภายนอก ควรคำนึงถึงเรื่องความดังที่เหมาะสมกับพื้นที่จัดงาน ลำโพงกลางแจ้ง หรือ PA มีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน

ลักษณะงานเป็นแบบไหน เป็นงานพูด หรือเป็นงานแสดงดนตรี 

          – ลำโพงที่เหมาะสมกับงานพูด งานประชาสัมพันธ์ ควรถ่ายทอดเสียงกลางได้ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องมีซับวูฟเฟอร์ เนื่องจากเสียงคนพูด มีความถี่ต่ำที่ออกมาค่อนข้างน้อย
          – ลำโพงที่ใช้กับงานดนตรี ก็ต้องทราบว่า เป็นดนตรีประเภทไหน ถ้าเป็นดนตรีประเภทโฟล์คซอง มีเพียงกีต้าร์และนักร้อง ที่ใช้ประกอบการเเสดง ก็ใช้เพียงลำโพงกลางแหลม ไม่ต้องลำโพงซับวูฟเฟอร์ แต่ถ้าเป็นการเเสดงดนตรีแบบมีเครื่องดนตรีประเภทกลอง เบส ฯลฯ เข้ามาร่วมด้วย ก็ต้องใช้ลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาช่วย เพื่อช่วยเติมเต็มเสียงที่ความถี่ต่ำๆ

งบประมาณ

          เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจ ถ้างบประมาณมากไม่น่าจะมีปัญหา แต้ถ้ามีงบประมาณจำกัด ต้องพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลในการเลือกซื้อระบบเสียง หรือเช่าระบบเสียงที่เหมาะสมกับงาน

ลำโพงPA ที่ใช้สำหรับงานต่างๆ นิยมใช้ลำโพงหลายรูปแบบ ดังนี้

ลำโพงคอลัมน์

          ลำโพงประเภทนี้ ส่วนใหญ่ มีภาคขยายเสียงและลำโพงซับวูพเฟอร์ในตัว ใช้งานง่าย ไม่ต้องปรับตั้งค่าอะไรมาก เสียงจะออกมาครบถ้วนสมบูรณ์ ตามที่ผู้ผลิตต้องการให้เป็น ถูกออกแบบมาใช้เพื่องานภายในและภายนอก มุมกระจายเสียงถูกออกแบบมาไม่ให้เสียงกระจายเสียงขึ้นด้านบน ช่วยลดความก้องและสะท้อนของห้องได้เป็นอย่างดี
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า

ลำโพงติดผนัง และลำโพงติดเพดาน

          ลำโพงที่ใช้สำหรับติดตั้งในห้องประชุม นิยมเป็นลำโพงแบบฝังฝ้าเพดาน หรือลำโพงติดผนัง นิยมกระจายตามจุด แต่ละจุดมีความดังไม่มาก เพื่อลดการสะท้อนของเสียง
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า

ลำโพงพอยซอร์ส

          ให้ความดังที่มาก ครอบคลุมพื้นที่ มุมกระจายเสียงค่อนข้างกว้าง ทำให้จัดการเรื่องความสม่ำเสมอของเสียงในบริเวณงานได้ง่าย มีทั้งแบบพาสซีพและแอคทีพ (มีภาคขยายเสียงในตัว และไม่มีภาคขยายเสียงในตัว) ส่วนมากจะตอบสนองความถี่กลางแหลมได้ดี สามารถใช้งานร่วมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ได้เป็นอย่างดีด้วย
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
-21%
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
-20%
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า

ลำโพงไลน์อาเรย์

          คิดค้นมาเพื่อทดแทนข้อจำกัดของลำโพงพอยซอร์ส ตอบโจทย์กับงานขนาดใหญ่ๆ มีความแม่นยำในการควบคุมมุมกระจายเสียง ลักษณะเป็นลำโพงที่ถูกแขวนเป็นแนวดิ่งในระดับความสูงต่อๆกันหลายใบ เหมาะสำหรับงานคอนเสริต งานการแสดงขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นลำโพงเสียงกลางแหลม ใช้งานร่วมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ ลำโพงประเภทนี้ มีราคาค่อนข้างสูง และต้องใช้ร่วมกันหลายๆใบ เพื่อที่จะให้เสียงครอบคลุมพื้นที่นั่นเอง
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
ไปยังสารบัญ

   รวบยอดแง่คิด มุมมอง ของ ลำโพงPA   

          ลำโพง PA คืออุปกรณ์ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการ ในเรื่องของสื่อสาร การถ่ายทอดเสียง ฯลฯ ลำโพงทำหน้าที่เปลี่ยนรูปแบบพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานเสียง ที่มนุษย์ได้ยิน ถูกออกแบบขึ้นมา ตามลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันไป ทั้งการใช้งานในระบบเล็กๆ ลำโพงตัวเดียว ไปจนถึงการใช้ลำโพงขนาดใหญ่ จำนวนมากๆร่วมกัน ผู้เลือกใช้งาน ควรมีความรู้ระดับหนึ่ง ในการเลือกใช้ลำโพงอย่างถูกต้อง เนื่องจากลำโพงประเภทต่างๆ มีข้อจำกัดในตัวเอง เพราะฉะนั้น ผู้ใช้งานต้องศึกษาหาความรู้ข้อดี ข้อเสียของลำโพงนั้นๆ ก่อน รวมทั้งการใช้งานลำโพง ร่วมกับอุปกรณ์ในภาคอื่นๆ เช่นโปรเซสเซอร์ ต้องมีการปรับแต่งให้เหมาะสมกันทั้งระบบ เพื่อจะให้ลำโพง และอุปกรณ์ในระบบ ถ่ายทอดเสียงออกมาได้ดี มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับลักษณะของงาน อีกทั้งยังคุ้มค่าต่อการลงทุนอีกด้วย
          ผู้เขียนหวังอย่างยิ่งว่าทุกท่านที่อ่านบทความนี้ จะสามารถนำความรู้ที่ได้ ไปใช้ประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย
สามารถติดตามบทความอื่นๆในเว็ปไซต์ของ AT Prosound ได้ที่นี่

ขอบคุณบทความจาก คุณนิติพล ชัยมั่น

ส่งต่อคุณภาพเสียง ส่งต่อความสุข

สินค้าแนะนำตามความสนใจ

สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿79.00฿7,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿55.00฿5,500.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
฿135.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿44.00฿3,600.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
฿145.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿93.00฿7,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿34.00฿2,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿71.00฿6,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)

บทความที่คุณอาจชอบ ในหมวดหมู่เดียวกัน

ใส่ความเห็น