ไมค์ไดนามิก (Dynamic Microphones) คืออะไร ?

DYNAMIC MICROPHONES

ไมค์ไดนามิก หรือที่หลายคนเรียกแตกต่างกันออกไป ตามจุดประสงค์การใช้งาน และตามรูปร่างลักษณะของไมค์ เช่น ไมค์ร้องเพลง ไมค์ประกาศ หรือบางคนก็เรียกว่า ไมค์สาย เป็นต้น โดยประวัติความเป็นมาของไมโครโฟนแบบคร่าว ๆ สั้น ๆ ก็คือ ในปี ค.ศ.1876 Emile Berliner ได้คิดค้นไมโครโฟนตัวแรก ที่ใช้เป็นเครื่องส่งสัญญาณเสียงทางโทรศัพท์ ที่งานนิทรรศการ Centennial ของสหรัฐอเมริกา Emile Berliner ได้เห็นโทรศัพท์ของบริษัทที่ชื่อว่า “Bell Company” จากนั้น Berliner จึงได้รับแรงบันดาลใจที่จะค้นหาวิธีปรับปรุงโทรศัพท์ที่จะคิดค้นขึ้นใหม่ หลังจากนั้นบริษัท Bell Company จึงรู้สึกประทับใจกับสิ่งที่ Berliner ประดิษฐ์คิดค้น และซื้อสิทธิบัตรไมโครโฟนของ Berliner เป็นมูลค่ากว่า 50,000 เหรียญ ตลอดช่วงเวลาหลังจากนั้น ก็ได้มีการพัฒนาเป็นไมโครโฟนประเภทต่าง ๆ มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1970 ก็ได้มีการพัฒนาเป็นไมค์ไดนามิก และไมค์คอนเดนเซอร์ขึ้นมานั่นเอง

ไมค์ไดนามิก

 

ไมค์ไดนามิก คือ ?

ในทางเทคนิคแล้ว… ไมโครโฟนก็คือ อุปกรณ์แปลงสัญญาณคลื่นเสียงเป็นพลังงานไฟฟ้า เมื่อแม่เหล็กเกิดการขยับ หรือเคลื่อนที่ใกล้เส้นขดลวด ก็จะเกิดเป็นกระแสไฟฟ้าขึ้นมา ทฤษฎีนี้มีความสำคัญต่อการออกแบบไมค์ไดนามิก ซึ่งไมโครโฟนส่วนใหญ่มีหลักการทำงาน ที่เลียนแบบการทำงานของ Membrane (เยื่อหุ้ม) ในหูมนุษย์ หรือก็คือ Diaphragm (ไดอะแฟรม) ของไมโครโฟนที่สั่นสะเทือน เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงความดันเสียง ภายในไมค์ไดนามิค ขดลวดขนาดเล็กจะติดอยู่กับไดอะแฟรมใกล้กับแม่เหล็ก เมื่อไดอะแฟรมเกิดการสั่นสะเทือน เพื่อตอบสนองต่อคลื่นเสียงที่เข้ามา ขดลวดจะขยับไปใกล้กับแม่เหล็ก ทำให้เกิดไฟฟ้ากระแสสลับขึ้นมา และพลังงานไฟฟ้านี้จะถูกส่งผ่านสายไมโครโฟน ไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น มิกเซอร์ เพื่อการขยายเสียงต่อไปนั่นเอง

ขอบคุณรูปภาพจาก Thomann

เนื่องจากไดอะแฟรมตัวเดียว ไม่สามารถให้การตอบสนองความถี่แบบ Linear ได้ละเอียดมากนัก ไมค์ไดนามิกส่วนใหญ่จึงมีจุดสูงสุด และจุดต่ำสุดในการตอบสนองต่อความถี่ และมีความไวต่อความถี่สูงต่ำ มากกว่า หรือน้อยกว่าไมโครโฟนคอนเดนเซอร์ (ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสเปคของไมโครโฟน) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไดอะแฟรมที่หนักกว่าของไมค์ไดนามิก และอาจเป็นประโยชน์ในหลาย ๆ สถานการณ์ ผู้ผลิตหลายรายจึงได้มีการปรับแต่ง การตอบสนองที่จำกัดของไมค์ไดนามิก ให้มีความเฉพาะด้านในการใช้งาน ยกตัวอย่าง เช่น ไมค์ไดนามิก ที่ตอบสนองต่อความถี่ต่ำ อาจเลือกใช้กับเครื่องดนตรีประเภทที่มีโทนเสียงต่ำ เช่น ตู้แอมป์เบส และกระเดื่อง เป็นต้น หรือไมค์ไดนามิกรุ่นไหนที่มีการออกแบบ ให้มีการตอบสนองความถี่ได้กว้างหน่อย ก็อาจจะเลือกใช้เป็น ไมค์ร้องเพลง หรือไมค์ประกาศบนเวทีกลางแจ้ง เป็นต้น

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

 

ลักษณะการใช้งาน

ไมค์ไดนามิก มีการใช้งานที่หลากหลาย และเหมาะสำหรับหลาย ๆ สถานการณ์ ด้วยข้อดีของไมค์ประเภทนี้ ทำให้มันมีความจำเป็นสำหรับ Sound Engineer ทุกท่าน ด้วยราคาที่ไม่แพง ทนทานต่อการใช้งาน ทนต่อความชื้น และไม่ต้องใช้ไฟ 48V เลี้ยงเพื่อให้สามารถใช้งานได้แบบไมค์คอนเดนเซอร์ อีกทั้งไมค์ไดนามิกยังมีคุณสมบัติจัดการกับระดับความดันเสียงได้ดี (SPL) ทำให้นิยมใช้สำหรับเป็นไมค์กลอง และได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับเป็น ไมค์ร้องเพลง ในการแสดงสด ด้วยความที่ตัวไมโครโฟนประเภทนี้มีความทนทานเป็นพิเศษ จึงสามารถรับมือกับการล่วงหล่น หรือการตกกระแทกที่อาจเกิดขึ้นบนเวทีได้ ตัวอย่าง เช่น Shure SM57 ที่ทุกท่านรู้จักกันดี ในเรื่องของคุณสมบัติการใช้จับกลองสแนร์

SHURE SM57

 

AKG D112 ก็เป็นไมค์กระเดื่องอีกหนึ่งรุ่น ที่ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน ให้การตอบสนองความถี่ที่ต่ำกว่า 100Hz และการบูสต์ย่านที่ 4kHz เพื่อเสียงกระเดื่องที่หนักแน่น และชัดเจนยิ่งขึ้น

AKG D112

 

หรือ Shure SM58 ราชาแห่งไมค์ไดนามิก ที่ Sound Engineer ทุกท่านต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี  

SHURE SM58

 

ความแตกต่าง สำหรับการเลือกไมโครโฟน

ไมค์ไดนามิก ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้มีคุณภาพที่เท่าเทียมกันทุกรุ่น ความแตกต่างในการออกแบบ และวัสดุที่ใช้ทำให้ไมโครโฟนแต่ละตัวมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมีปัจจัยเรื่องความแตกต่างที่สำคัญ ดังนี้ :

  • ระดับความดันเสียง (Sound Pressure Level หรือ SPL)

ความสูงของระดับความดันเสียง จะเป็นตัวกำหนดว่าไมโครโฟนตัวนั้น เหมาะสำหรับการใช้งานแบบใด การรู้จัก และทำความเข้าใจกับระดับความดันเสียงของไมโครโฟน เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้งานโมโครโฟนอย่างปลอดภัย ซึ่งไมค์ไดนามิกส่วนใหญ่ สามารถทนต่อความดันเสียงในระดับสูงได้ ด้วยเหตุนี้… ไมค์ไดนามิก จึงสามารถใช้ได้ในหลาย ๆ สถานการณ์ ในขณะที่ไมโครโฟนประเภทอื่น ๆ ไม่กี่ตัวที่จะรอดไปได้ หากการใช้งานของเรามีค่า SPL ที่สูงกว่าสเปคของไมโครโฟน ก็จะส่งให้เกิดการ Distortion ของเสียง แต่ในบางกรณีก็ไม่ถึงขั้นที่ทำให้แคปซูลเสียหายถาวร ด้วยเหตุนี้ ไมค์ไดนามิกบางรุ่น โดยเฉพาะรุ่นที่เกรดสูง ๆ ได้มีการบอกไว้ข้างกล่องว่า ค่าสูงสุดของ SPL เป็น “N/A” (ไม่มี) หรือพูดอีกอย่างก็คือ “ใช้ได้เลยเต็มที่ ไม่ต้องกังวล” 

  • การตอบสนองความถี่ (Frequency Response)

การตอบสนองความถี่เป็นอีกหนึ่งข้อปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งไมโครโฟนแต่ละรุ่นก็จะมีโทนเสียง และการตอบสนองความถี่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้นผู้ใช้ หรือ Sound Engineer บางท่านอาจจะเลือกพิจารณาจากสีสันของเสียง แทนการพิจารณาจากตัวเลขสเปคข้างกล่องอย่างจริงจัง ยกตัวอย่าง เช่น นักร้องที่มีเอกลักษณ์ของโทนเสียงเฉพาะย่านความถี่ใดความถี่หนึ่ง ก็อาจจะเลือกไมโครโฟนที่มีการตอบสนองความถี่นั้นได้ดี เพื่อทำให้เสียงร้องของตัวเองมีความไพเราะ และชัดเจนขึ้นเป็นพิเศษนั่นเอง

ไมค์ไดนามิก

EV RE20

มี 2 ปัจจัย ที่จะมีผลต่อการตอบสนองความถี่ของไมโครโฟน นั่นก็คือ ระยะทาง และทิศทาง หากไมโครโฟนอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับแหล่งกำเนิดเสียงมาก ก็จะมีผลต่อโทนเสียงของไมโครโฟน เช่น ความถี่ต่ำที่เพิ่มขึ้น ทำให้เสียงมีความทุ้มมากขึ้น ซึ่งทั้งดีเจวิทยุ หรือนักจัดรายการพอดแคสต์ มักเลือกไมโครโฟนที่ทำให้โทนเสียงมีความเด่นชัด และเต็มอิ่ม ในทางกลับกัน หากไมโครโฟนอยู่ในตำแหน่งที่ไกลจากแหล่งกำเนิดเสียง เสียงที่ได้ก็จะมีความบาง เพราะการตอบสนองถี่ต่ำที่ลดลง เนื่องจากระยะห่างที่เพิ่มขึ้น ระหว่างไมโครโฟน กับแหล่งกำเนิดเสียงนั่นเอง

  • รูปแบบการรับเสียง (Polar Pattern)

อย่างที่เราทราบกันดี ไมโครโฟนทุกรุ่นไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบการรับเสียงที่ดีในทุกทิศทางของไมโครโฟน ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า รูปแบบการรับเสียงในแบบต่าง ๆ ก็มีลักษณะการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นรูปแบบการรับเสียง จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ สำหรับการเลือกไมโครโฟนสักตัว โดยรูปแบบการรับเสียงที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ Cardioid (รับเสียงด้านหน้า) , Supercardioid และ Hypercardioid (รับเสียงด้านหน้าในโฟกัสองศาที่แคบลง) , Omnidirectional (รับเสียงรอบทิศทาง) และ Figure-8 หรือ Bidirectional (รับเสียงด้านหน้าและหลัง) ยกตัวอย่าง เช่น โดยปกติแล้วในการใช้งานทั่วไป รูปแบบการที่รับเสียงที่ผู้ใช้เลือกใช้มากที่สุด ก็คือ รูปแบบ Cardioid ส่วนรูปแบบ Supercardioid และ Hypercardioid ก็นิยมใช้สำหรับเป็น ไมค์ร้องเพลง หรือไมค์สำหรับเครื่องดนตรี เพราะการรับเสียงรูปแบบนี้ มีโฟกัสที่ดี และจัดการกับปัญหาเสียงรบกวนได้ดี เป็นต้น

ขอบคุณรูปภาพจาก Digital Writing & Research Lab

  • ความเร็วในการตอบสนองต่อคลื่นเสียง (Sensitivity)

Sensitivity ของไมโครโฟนจะเป็นตัวกำหนดว่า ไดอะแฟรมจะตอบสนองต่อเสียงได้เร็วแค่ไหน ไดอะแฟรมที่มีขนาดใหญ่กว่า มักจะมีความเร็วในการตอบสนองต่อคลื่นเสียง ที่ช้ากว่าไดอะแฟรมขนาดเล็ก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม จึงมักเลือกใช้ไมค์คอนเดนเซอร์ไดอะแฟรมขนาดเล็ก สำหรับการบันทึกเสียงร้องในสตูดิโอ ในขณะเดียวกัน… ก็เป็นเหตุผลว่าทำไม ไมโครโฟนที่ความเร็วในการตอบสนองต่อคลื่นเสียง ที่ไวอย่างไมค์คอนเดนเซอร์ จึงไม่เหมาะสำหรับใช้เป็น ไมค์ร้องเพลง บนเวทีแสดงสด ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่า ลักษณะการใช้งานของไมค์ไดนามิก และไมค์คอนเดนเซอร์นั้นต่างก็มีบทบาทเป็นของตัวเอง (แต่ในปัจจุบันก็เริ่มมีการนำไมค์คอนเดนเซอร์ มาใช้ในงานแสดงสดกันบ้างแล้ว เช่น Neumann KMS-105 หรือ Shure KSM-9 เป็นต้น)

  • ความต้านทาน (Impedance)

ไมโครโฟนแต่ละรุ่นจะมีความต้านทานที่ต่างกัน ซึ่งเป็นความต้านทานทางไฟฟ้าที่มีหน่วยวัดเป็น “โอห์ม” (แทนสัญลักษณ์ด้วย Ω) ไมโครโฟนที่มีความต้านทานสูง จะมีความอ่อนไหวต่อสัญญาณรบกวน และการสูญเสียคุณภาพของสัญญาณเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้กับสายสัญญาณ ที่มีความยาวมาก ๆ เพราะด้วยความต้านทานที่สูง บวกกับความยาวของสายสัญญาณ จึงทำให้ไมโครโฟนไม่มีกำลังพอที่จะขับสัญญาณออกมา ได้แบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นนั่นเอง แต่สำหรับไมโครโฟนที่มีความต้านทานต่ำ มันกลับมีกำลังพอที่จะขับสัญญาณเสียงออกได้ดีกว่า และมีความเคลียร์ของสัญญาณมากกว่า เมื่อเทียบกับการใช้กับสายสัญญาณที่มีความยาวเท่ากัน แต่อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ระบบเสียงสมัยใหม่ ยกตัวอย่าง เช่น มิกเซอร์ หรือออดิโออินเตอร์เฟส ก็มีปุ่ม Hi-Z เพื่อจัดการ และปรับค่าความต้านทานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

สรุป

ไมค์ไดนามิก ก็คือ อุปกรณ์ที่แปลงสัญญาณคลื่นเสียงเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยการเลียนแบบการทำงานของ Membrane ในหูมนุษย์ ซึ่งไดอะแฟรมของไมโครโฟนจะสั่นสะเทือน เพื่อตอบสนองต่อคลื่นเสียงที่เข้ามา และเปลี่ยนแปลงความดันเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า และส่งสัญญาณนั้นด้วยสายไมโครโฟนไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อการขยายเสียงต่อไป นอกจากนี้… ไมโครโฟนไดนามิก ยังมีการใช้งานที่หลากหลาย เช่น ใช้เป็นไมค์เครื่องดนตรี ไมค์ร้องเพลง หรือไมค์ประกาศในหอประชุม เป็นต้น

 

ติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook AT Prosound

บทความโดย : ณัฐพจน์ วิจารัตน์


สินค้าแนะนำตามความสนใจ

สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿79.00฿7,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿55.00฿5,500.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
฿135.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿44.00฿3,500.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
฿145.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿93.00฿7,400.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿34.00฿2,700.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿71.00฿5,700.00 (รวม VAT 7% แล้ว)

บทความที่คุณอาจชอบ ในหมวดหมู่เดียวกัน

ใส่ความเห็น