มิกซ์เสียงร้อง ! ทำอย่างไร อะไรบ้าง..?
AT ออนไลน์ไกด์, สตูดิโอ, เกร็ดความรู้
VOCAL CHAIN MIXING
มิกซ์เสียงร้อง ! ทำอย่างไร อะไรบ้าง..? | การมิกซ์เสียงร้องเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการมิกซ์งานไลฟ์ซาวด์ และกระบวนการผลิตเพลง เพราะเสียงร้องก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักที่ทำหน้าที่สื่อสารเนื้อหา และอารมณ์ของเพลงถึงผู้ฟังได้มากที่สุด
การมิกซ์เสียงร้องอย่างมีประสิทธิภาพต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น การปรับระดับเสียง , การใช้คอมเพรสเซอร์ , การใช้ EQ รวมถึงการใช้เอฟเฟคเพื่อให้เสียงร้องโดดเด่น ฟังชัด และมีความเข้ากันได้กับองค์ประกอบอื่น ๆ อย่างเสียงเครื่องดนตรีอย่างสมดุล
ในบทความนี้เราจะพามาดูกันว่า การมิกซ์เสียงร้อง ! ทำอย่างไร อะไรบ้าง..? เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มฝึกมิกซ์เสียง จนถึงผู้ที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว ก็สามารถนำไปต่อยอด และประยุกต์ใช้ในการทำงานของคุณได้ครับ
GAIN จัดการระดับสัญญาณ
การจัดการระดับสัญญาณเสียง (Gain Staging) เป็นพื้นฐานสำคัญ ในการทำให้สัญญาณเสียงมีคุณภาพ และเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการผลิตเพลงในสตูดิโอ และงานไลฟ์ซาวด์ หรือการทำงานด้านเสียงอื่น ๆ
ในการจะมิกซ์เสียงร้อง สิ่งแรกที่ต้องทํา คือการปรับ Gain ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่เบาเกินไปทําให้เสียงบาง หรือแรงเกินไปจนแตกพร่า และอย่าลืม เผื่อ Headroom ไว้เสมอ เพื่อให้เสียงมี Dynamic Range ที่ดี
COMPRESSION จัดการไดนามิก
ขั้นตอนนี้เป็นการจัดการไดนามิกเสียง โดยการลดความแตกต่างระหว่างระดับเสียงที่ดังที่สุด และเบาที่สุดในสัญญาณเสียง ทำให้เสียงร้องที่ออกมามีความสม่ำเสมอ และไดนามิกคงที่มากขึ้น ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างมาก
ด้วยการใช้คอมเพรสเซอร์เพื่อควบคุมไดนามิก ให้เสียงร้องมีความสม่ำเสมอ ไม่วูบวาบ ปรับค่า Attack & Release อย่างเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยง การบีบอัดมากเกินไป เพราะอาจทําให้เสียงร้องบี้แบนได้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
EQUALIZATION การทําอีคิว
การทำ EQ คือกระบวนการปรับแต่งความถี่ของสัญญาณเสียง เพื่อทำให้เสียงมีความสมดุลมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยให้เสียงมีความเข้ากันกับองค์ประกอบอื่น ๆ อย่างเช่น เสียงเครื่องดนตรี ซึ่งสามารถช่วยให้เสียงโดยรวมฟังดูดีขึ้น
ยกตัวอย่างการทํา EQ เพื่อปรับโทนเสียง ด้วยการ Low Cut ความถี่ต่ำเพื่อจัดการ เสียง Boomy เสียงอู้ อื้ออึง ที่ไม่ต้องการ และจัดการความถี่สูง ตามความเหมาะสมเพื่อเพิ่มความชัดเจนให้กับเสียงร้อง
DE-ESSER ลดเสียงซิบ
หากเสียงย่าน Sibilance เป็นปัญหา หรือที่เรียกกันว่า “เสียงซิบ” ให้ใช้เอฟเฟคสำหรับลดเสียง “S, ซ” และอื่น ๆ นั่นคือ De-Esser เพื่อจัดการ เสียงซิบที่มากเกินไป โดยไม่ส่งผลต่อโทนโดยรวมของเสียงร้อง
การทำงานของ De-Esser จะคล้ายกับ Compressor แต่จะเน้นเฉพาะย่านความถี่ที่เกิดเสียง Sibilance โดยจะลดระดับเสียงในย่านนั้นลง เพื่อให้เสียงที่ออกมาฟังดูนุ่มนวล และเป็นธรรมชาติมากขึ้น
REVERB & DELAY เพิ่มมิติให้น่าสนใจ
ขั้นตอนสุดท้ายคือการใช้เอฟเฟค Reverb และ Delay เพื่อเพิ่มมิติที่น่าสนใจให้กับเสียงร้อง ทดลองใช้ Reverb และ Delay ประเภทต่าง ๆ ตามอารมณ์เพลง และปรับสมดุล Wet / Dry เพื่อให้ได้คาแร็คเตอร์ที่ต้องการ
โดยขยายความ Reverb คือ เอฟเฟคที่จำลองการสะท้อนของเสียงในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ห้องโถง , โบสถ์ หรือฮอลล์คอนเสิร์ต เป็นการเพิ่มบรรยากาศที่สมจริงให้กับเสียง ทำให้เกิดเสียงที่ต่อเนื่อง และกังวานกว่าเสียงต้นฉบับ
Delay คือ เอฟเฟคที่ทำให้เกิดเสียงสะท้อนตามมาหลังจากเกิดเสียงต้นฉบับ โดยมีการหน่วงเวลาก่อนที่เสียงจะเกิดการ Delay ขึ้น ซึ่งสามารถใช้ช่วยในการสร้างเอฟเฟคที่น่าสนใจได้หลากหลายแบบ
ติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook AT Prosound
บทความ มิกซ์เสียงร้อง ! ทำอย่างไร อะไรบ้าง..? โดย : ณัฐพจน์ วิจารัตน์