คำศัพท์เทคนิค ที่ควรรู้ เกี่ยวกับระบบเสียง

ศัพท์เทคนิคระบบเสียง

ศัพท์เทคนิคระบบเสียง มีอะไรบ้าง เริ่มต้นจาก

A

AC (Alternating current)

ไฟฟ้ากระแสสลับหรือเรามักชอบเรียกกันว่า ไฟAC , ไฟ220 , ไฟบ้าน เป็นไฟฟ้าที่มีการสลับขั้วกันอยู่ตลอดเวลาที่เหมือนสัญญาณ Sine Wave ที่มีความถี่อยู่ที่ 50Hz ไฟฟ้ากระแสสลับเป็นไฟฟ้าที่เราจ่ายให้อุปกรณ์ต่างๆในระบบเสียงของเรา โดยจะใช้แรงดันไฟฟ้าอยู่ที่ 220-230 VAC 50Hz สำหรับอุปกรณ์ในประเทศไทย โดยระบบไฟฟ้ากระแสสลับจะถูกแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ ไฟฟ้ากระแสสลับ 3 เฟส กับ ไฟฟ้ากระแสสลับ 1 เฟส

Acoustics

อะคูสติก มีความหมายทั้งในเรื่องของ ศาสตร์แขนงหนึ่งของวิชาฟิสิกส์ ศึกษาเกี่ยวกับคลื่นเสียงที่เคลื่อนที่ผ่านตัวกลางต่าง ๆ และหมายถึงสภาพของสถานที่ เช่น เรื่องของขนาด สัดส่วน พื้นผิว คุณสมบัติอื่นๆ ของห้องที่มีผลต่อการรับฟังเสียง

ASIO

เป็นโปรโตคอลดิจิตอลออดิโอที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Steinberg Media Technologies จากประเทศเยอรมนีเพื่อใช้รับ-ส่งข้อมูลสัญญาณเสียงระหว่างฮาดแวร์ กับ คอมพิวเตอร์ (Windows)เพื่อบันทึกเสียง หรือ ในเปิดเพลงผ่าน ASIO ซึ่งข้อดีของ ASIO คือมี Latency ที่ต่ำมากๆ ทำให้ผู้ผลิตเจ้าอื่นๆที่ทำอินเตอร์เฟสจึงหันมาใช้โปรโตคอล ASIO กันหมดโดยปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น ซาวด์การ์ด อนาล็อกมิกเซอร์ดิจิตอลมิกเซอร์ ที่มีอินเตอร์เฟสจะใช้โปรโตคอล ASIO

AES/EBU

ย่อมาจาก Audio Engineering Society เป็นสมาพันธ์มาตราฐานทางด้านออดิโอ
EBU ย่อมาจาก European Broadcasting Union เป็นสมาพันธ์มาตรฐานทางด้านบรอดคาสต์ของทางฝั่งยุโรป AES/EBU หรือ AES3 เป็นช่องสัญญาณที่มักพบเห็นตามดิจิตอลมิกเซอร์ โปรเซสเซอร์ เพาเวอร์แอมป์ที่มี DSP ในตัว AES/EBU เป็นโปรโตคอลที่ไว้สำหรับ รับ-ส่งสัญญาณเสียงที่เป็นสัญญาณแบบดิจิตอลแบบ PCM พร้อมกัน 2 แชนแนล ผ่านสายสัญญาณที่เป็นแบบบาลานซ์ 110 โอห์ม โดยสามารถส่งสัญญาณเอาท์พุต LR ส่งออกจากช่อง AES/EBU จากมิกซ์ไปเข้าช่อง AES/EBU อินพุตของเพาเวอร์แอมป์ได้เลย โดยใช้สายเพียงเส้นเดียว ข้อดีของ AES/EBU คือ ไม่เกิดการสูญเสียของสัญญาณที่เกิดจากการแปลงสัญญาณอนาล็อกเป็นสัญญาณดิจิตอล และ แปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นสัญญาณอนาล็อกหลายๆ รอบ

AUX

ย่อมาจาก Auxiliary (อ๊อก-ซิ-เลีย-รี่) คือ การส่งสัญญาณเสียงของแต่ละช่องออกเพื่อนำสัญญาณเพื่อไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น การส่งเสียงให้กับมอนิเตอร์ของนักดนตรี หรือ การส่งสัญญาณเสียง เพื่อไปใช้กับเอฟเฟ็คนอกโดยการส่ง AUX จะมีสองแบบ คือ Pre กับ Post การส่งแบบ Pre คือส่งสัญญาณเสียงโดยไม่ผ่านการควบคุมของเฟดเดอร์ การลด-เพิ่มเสียงจากเฟดเดอร์จะไม่มีผลกับสัญญาณที่ออกไป การส่งแบบ Post คือส่งสัญญาณเสียงโดยการควบคุมของเฟดเดอร์ การลด-เพิ่มเสียงจากเฟดเดอร์จะมีผลกับสัญญาณที่ออกไป

Audiophile (ออดิโอไฟล)

การพิถีพิถันในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการฟังเพลง สำหรับบุคคลที่เล่นเครื่องเสียงแบบจริงจัง ฟังเพลงจากบทเพลงที่ผ่านการบันทึกเสียงที่ดีเลิศ ด้วยเทคนิคที่พิเศษกว่าการบันทึกเสียงทั่วไป ผ่านเครื่องเล่นระบบเสียงที่ดีมากๆ ทำให้เพลงที่ออกมาฟังแล้วไพเราะกว่าเพลงทั่วไปมาก ด้วยเสียงที่สมจริงเปรียบเสมือนฟังการเเสดงสดจากตรงหน้าเลยครับ

Autotune

เทคนิคหรือกระบวนการการปรับแต่งเสียงให้ตรงกับโน้ตเพลงหรือเมโลดี้ โดยใช้หลักการเปลี่ยนแปลงความถี่จากเดิม ให้ต่ำลง หรือสูงขึ้น โดย Autotune นิยมใช้ในโปรแกรมทำเพลง จะทำหน้าที่ปรับความดังเบาของเสียงให้ดูเป็นธรรมชาติ โดยการทำให้เสียงร้องตรงกับโน้ตที่ตั้งเอาไว้ หรือจะทำการปรับแต่งให้ได้เสียงที่เป็นเอกลักษณะพิเศษ ที่มักจะนำไปใช้ทำเอฟเฟคในแนวเพลง ฮิปฮอป เรกเก้ และแนวเพลงอื่นๆ เป็นต้น

B

Balance / Unbalance

คือ การเรียกสายสัญญาณ หรือลักษณะการส่งสัญญาณในระบบเสียง Balance จะประกอบไปด้วย สายสัญญาณ 3 เส้น ประกอบไปด้วย สัญญาณบวก (HOT) สัญญาณลบ (COLD) กราวด์ (Shield) จะอยู่ในหัวคอนเน็คเตอร์ประเภท XLR, TRS  ข้อดีคือ สามารถลากสายยาวได้เป็นร้อยเมตรและมีสัญญาณรบกวนต่ำ มีความแรงกว่าสัญญาณแบบ Unbalance จะประกอบด้วยสายสัญญาณ 2 เส้น ประกอบไปด้วย สัญญาณ(Signal), กราวด์(Shield) จะอยู่ในหัวคอนเน็คเตอร์ประเภท TS, RCA ข้อเสีย คือ ไม่สามารถเดินสายสัญญาณเกิน 7 เมตร เพราะจะมีสัญญาณรบกวนปะปนเข้ามา

Bi-Amp

การแยกขับดอกลำโพงระหว่าง ดอกวูฟเฟอร์ และ ดอกทวิตเตอร์ ในตู้ลำโพง โดยไม่ใช่พาสซีฟครอสโอเวอร์ ลำโพงแบบ Bi-Amp มีทั้งแบบแอคทีฟ และ พาสซีฟ

BGM หรือ background music

หมายถึงระบบเสียงที่เปิดเพลงเดียววนๆซ้ำๆไปมาหรือจะเปิดหลายเพลง มักถูกเปิดจากลำโพงกระจายเสียงประชาสัมพันธ์ ที่ติดตามผนัง เพดาน หรือพื้น ตามห้างสรรพสินค้า โรงแรม ห้องสปา ร้านอาหาร โรงพยาบาล สวนสาธารณะ จุดประสงค์เปิดเพื่อเพิ่มบรรยากาศให้สถานที่นั้นๆเช่นเพลงที่เราได้ยินเสียงคลอๆเบาๆนั่นเอง

Bridge (บริจ)

การบริจ เป็นการนำเอากำลังของเครื่องขยายเสียง 2 ช่อง มารวมเป็น 1 ช่องครับ เหตุผลก็คือเพื่อให้ได้กำลังที่มากขึ้นจากเดิม 2- 4 เท่าครับ การบริจ สามารถทำได้ในเครื่องขยายเสียงส่วนใหญ่ โดยที่ตัวเครื่องขยายเสียงจะมีสวิตช์ให้เลือกกดไปที่ Bridge ครับ

C

Control Surface

คือ อุปกรณ์ที่มีหน้าตาเหมือนบอร์ดมิกเซอร์ แต่ไม่ใช่มิกเซอร์ และไม่มีการประมวลผลสัญญาณเสียงในตัว ใช้ควบคุมมิกเซอร์ หรือ ซอฟต์แวร์ (DAW) ปัจจุบันผู้ผลิตหลายแบรนด์ทำโปรเสสเซอร์แยกกับตัวคอนโทรล เช่น Allen&Heath dLive C1500 เป็น Control Surface ใช้ควบคุมมิกเซอร์แร็ค CDM32 หรือ YAMAHA PM5 ที่มี CS-R5 เป็น Control Surface และมี DSP-RX เป็นโปรเสสเซอร์ หรือ Control Surface ที่ใช้ควบคุมซอฟต์แวร์ เช่น AVID S1 ใช้ควบคุมโปรแกรม Pro Tool

Coverage

มุมกระจายเสียงของตู้ลำโพงว่าตู้ใบนั้นมีมุมกระสายเสียงกว้างขนาดไหน มุมกระจายเสียงจะบอกเป็น 2 แนว คือ แนวนอน (Horizontal) (ฮอริซอนทัล ) และ แนวตั้ง (Vertical) (เวอร์ติคอล ) ซึ่งมุมกระจายเสียงของลำโพงแต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันไป เช่น ลำโพงพอยซอร์สโดยส่วนใหญ่จะมีมุมกระจายเสียงอยู่ที่ 90×60 องศา ลำโพงไลน์อาเรย์โดยส่วนใหญ่จะมีมุมกระจายเสียงอยู่ที่ 10×120 องศา ทั้งนี้มุมกระจายเสียงขึ้นอยู่กับการออกแบบของทางผู้ผลิต

Coaxial drivers

เป็นดอกลำโพงชนิดหนึ่งที่มีไดรฟเวอร์ตั้งแต่สองตัวขึ้นไป ติดตั้งอยู่แกนกลางเดียวกัน มีการรวมกันของดอกลำโพงที่ตอบสนองความถี่ที่ต่างกันไว้ในดอกเดียว ส่วนใหญ่เป็นดอก Tweeter และ Mid-Range จุดประสงค์ของดอกลำโพงชนิดนี้ ต้องการให้เสียงจากไดร์ฟเวอร์ที่ติดตั้งไว้ พุ่งออกมาจากจุดเดียวกัน ข้อดีคือ จะเกิดการหักล้างของเสียงน้อยมาก เนื่องจากศูนย์กลางของแหล่งกำเนิดเสียงอยู่ตำแหน่งเดียวกัน และลำโพงแบบ Coaxial จะตอบสนองความถี่ได้กว้างกว่าดอกปกติ นิยมใช้ทำตู้มอนิเตอร์ ลำโพงรถยนต์ ฯลฯ

D

DMX512

DMX ย่อมาจาก Digital Multiplex มักเห็นคำนี้ในระบบเเสง เป็นสัญญาณที่ใช้ควบคุมอุปกรณ์ในระบบเเสงที่ต่อจากบอร์ดคอนโทรลไปควบคุมไฟต่างๆ เช่น ไฟพาร์แอลอีดี, ไฟบีม, ไฟโมเฟ่, ไฟสโตรป DMX512 เป็นมาตรฐานการส่งสัญญาณดิจิตอลผ่านสายสัญญาณ 2 เส้น แบบอนุกรมที่ความเร็ว 250 kdit/s โดยข้อดีของ DMX512 คือ อุปกรณ์สามารถพ่วงสายสัญญาณถึงกันโดยไม่ต้องแยกส่งสัญญาณโดยสิ่งที่เป็นกำหนดข้อมูลที่จะส่งไปที่อุปกรณ์แต่ละตัว คือ Address สายสัญญาณที่ใช้นำสัญญาณ DMX ควรเป็นสายสัญญาณดิจิตอล 110 Ohm หรือ สาย Cat5e

DAW

คือโปรแกรมที่ใช้บันทึกเสียง ตัดต่อ มิกซ์เสียง ทำมาสเตอร์ริ่ง และทำ Midi เพื่อใช้ ทำผลงานเพลง สปอตโฆษณา การพูดหรือเสียงประกอบทำงานบนระบบคอมพิวเตอร์ DAW ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น Logic Pro , Cubase , Studio One , Pro tool

Distortion

คือ ความผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้นในระบบเสียง โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เพาเวอร์แอมป์ทำงานจนสุดกำลังและมีเสียงแตกพล่าออกลำโพง หรือ เรียกง่าย ๆ ว่าแอมป์คลิป (Cilpping) จนทำให้ความถี่ฮาร์โมนิกเกิดขึ้น เราเรียกสิ่งนี้ว่า Distortion

Dante

คือ โปรโตคอลที่ใช้รับ-ส่ง สัญญาณภาพ และ เสียง ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย บริษัท Audinate เป็นโปรโตคอลรับ-ส่งข้อมูล ผ่านสายแลนที่รันบน Ethernet Gigabit Switch สามารถรับ-ส่งข้อมูล พร้อมกันได้ 512×512 แชนแนลและยังสามารถรองรับสูงสุด Sampling Rate ได้ถึง 192 kHz สามารถ Fix Latency ในแต่ละอุปกรณ์ให้เท่ากันได้ มีระบบ Redundant ที่ใช้สำรองเมื่อสายแลนเส้นหลักมีปัญหา ก็จะโยกไปใช้สายแลนที่เป็นระบบสำรองอัตโนมัติ เราจะเห็นได้ว่าอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆที่ผลิตออกมา จะแถมช่องสัญญาณ Dante เช่น Marani LPP480F,Soundcraft Vi1000 มาให้ หรือ ผู้ผลิตบางเจ้า สามารถซื้อการ์ด Dante แยกเพื่อใส่กับอุปกรณ์ได้

Damping Factor

แดมปิ้งเฟคเตอร์(DF) คือค่าความสามารถของเพาเวอร์แอมป์ที่จะหยุดการสั่นของดอกลำโพง เป็นอัตราส่วนระหว่างอิมพิแดนซ์ของดอกลำโพง ต่ออิมพิแดนซ์เอาท์พุตของเพาเวอร์แอมป์ ยิ่งมีค่ามากยิ่งดีจะยิ่งทำให้เสียงมีความกระชับไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม สามารถดูค่าแดมปิ้งเฟคเตอร์ได้จากสเปคของเพาเวอร์ที่ผู้ผลิตให้มา

DC

ย่อมาจาก Direct Current ไฟฟ้ากระแสตรงหรือที่เรามักชอบพูดกันว่าไฟ DC เป็นไฟฟ้าที่มีทิศทางการไหลของกระแสไฟฟ้าไปในทิศทางเดียว อุปกรณ์ที่จ่ายไฟฟ้ากระแสตรงออกมา เช่น แบตเตอรี่ , โซล่าเซลล์ , อะแดปเตอร์ชาร์จมือถือ จริงๆแล้วอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันเรียกว่าเกือบ 100% ทำงานด้วยด้วยไฟฟ้ากระแสตรง แต่ที่ต้องเสียบปลั๊กจากไฟAC เพราะข้างในอุปกรณ์เหล้านั้นมีวงจรแปลง ไฟAC เป็น ไฟDC ไม่ว่าจะเป็น มิกเซอร์ , เพาเวอร์แอมป์ , คอมพิวเตอร์ , โทรทัศน์

อ่านบทความเพิ่มเติมอื่นๆ

 

Dynmic range

ช่วงห่างของระดับเสียงที่ดังที่สุดและเบาที่สุด ที่เกิดกับแหล่งกำเนิดเสียงนั้นๆ มีหน่วยเป็น dB ถ้า Dynmic range มีค่ามาก แสดงว่า ระดับเสียงที่เกิดขึ้น มีความสวิงจากต่ำถึงสูงมาก ระบบเสียงที่มีขนาดใหญ่ ตอบสนองความดังได้สูงๆ จะยิ่งมีค่า Dynmic range สูงเช่นกัน นอกจากนี้ ค่า Dynmic range มักสังเกตได้ที่ตัวแสดงผล VU ของอุปกรณ์เสียงชนิดต่างๆ เช่น มิกเซอร์ เพาเวอร์แอมป์ โปรเซสเซอร์ หรือสามารถใช้เครื่องมือวัดค่า dB ได้ เป็นต้น

Digital

การประมวลผลสัญญาณเชิงตรรกะทางคณิตศาสตร์ มีกระบวนการแทนความหมายของข้อมูลในรูปแบบของตัวเลข ที่มีค่าไม่ต่อเนื่องกัน ซึ่งต่างจากระบบ analog ที่ใช้ค่าต่อเนื่อง ในระบบเสียง การประมวลผลแบบ Digital เกิดขึ้นในอุปกรณ์จำพวกมิกเซอร์ โปรเซสเซอร์ต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยีการประมวลผลแบบ Digital เข้ามามีบทบาทในวงการเครื่องเสียง ในส่วนของอุปกรณ์ เช่น มิกเซอร์ดิจิตอลเข้ามาทดแทนมิกเซอร์อนาล็อค เป็นต้น

E

F

FOH

ย่อมาจาก Front Of House จุดที่วางคอนโทรลของระบบเสียง แสง ภาพ เป็นจุดที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าเวทีคอนเสิร์ตมีตำแหน่ง และระยะห่างจากเวทีที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ยินเสียงที่ชัดเจนครบถ้วน ได้เห็น แสง ภาพ และการเคลื่อนไหวของนักดนตรีบนเวที เพื่อให้สะดวกต่อเอ็นจิเนียร์ที่คสบคุมบอร์ดคอนโทรล

FIR

หรือ FIR Filter คือ วงจรกรองความถี่แบบดิจิตอล ที่มีผลตอบสนองทางเฟสแบบเชิงเส้น เรามักพบคำว่า FIR ในอุปกรณ์ระบบเสียง เช่น ลำโพงแอคทีฟ โปรเซสเซอร์ เพาเวอร์แอมป์ที่มี DSP ในตัว เทคโนโลยี FIR เข้ามาช่วยจัดการลำโพงในระบบเสียง เช่น การตัดครอสโอเวอร์ ที่มีความชันสูงที่ไม่ทำให้เกิดชิปเฟส, การจัดการเฟสของแต่ละความถี่ ให้มาพร้อมกันโดยผู้ผลิตแต่ละเจ้า จะใช้คำที่เรียกเทคโนโลยี FIR ของแบรนด์ตัวเองที่แตกต่างกันไป เช่น RCF ใช้คำว่า FIR Phase , Electro-Voice ใช้คำว่า FIR-Drive

fir (Finite impulse response)

ทางระบบเสียง จะเป็นฟิลเตอร์ชนิดหนึ่งสำหรับแก้ปัญหาเรื่องเสียงเพื่อให้ผิดเพี้ยนน้อยที่สุด
สามารถจัดการความถี่เสียง (Magnitude) โดยไม่ก่อให้เกิดการเลื่อนของ Phase มีข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับฟิลเตอร์ชนิดอื่น เช่นไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของแบนด์อีคิว หรือจุดตัดที่ชันโดยไม่เกิดเฟสชิพ เป็นต้น ปัจจุบัน FIR เป็นเทคโนโลยีที่นิยมที่สุด ในการจัดการลำโพง ฟิลเตอร์ FIR จะมีอยู่ในอุปกรณ์จำพวก DSP เช่นตัวจัดการลำโพง ตู้ลำโพงแอคทีฟ เป็นต้น

G

Graphic EQ

ฟังก์ชั่นที่ใช้สำหรับปรับความถี่เสียง โดยมีลักษณะเป็นก้านสไลด์ขึ้นลง เพื่อเพิ่ม-ลด ระดับสัญญาณในแต่ละย่านความถี่ที่ถูกกำหนดไว้ตายตัว ถูกออกแบบมาให้มีค่าความละเอียดต่างกันตามจำนวนช่องสไลด์ เช่น 10 15 หรือ 31 แบนด์ Graphic EQ มีให้เห็นทั้งในรูปแบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

Ground Loop

คือการเชื่อมต่อสายไฟที่ทำหน้าที่เป็นกราวด์เดินทางมากกว่า 1 เส้นทาง เมื่อมีการเลือกเดินทางที่มากกว่า 1 จึงเกิดการวนลูปของกราวด์ ความต้านทานทางคลื่นความถี่ไม่เท่ากัน ถึงแม้ความต้านทานทางความต่างศักย์ไฟฟ้าจะเท่ากัน เมื่อมีกระเเสไฟฟ้ารั่วเข้าสายกราวด์จะทำให้เกิดคลื่นรบกวนการทำงานของอุปกรณ์ที่อยู่ในระบบ วนกันของระบบกราวด์ ซึ่งเป็นอีกหนึงสาเหตุของเสียงจี่ฮัมที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ในระบบเสียง เมื่อเกิดการลูปเกิดขึ้น จะเปรียบเสมือนการนำแรงดันไฟฟ้ามาทำให้มีการเหนี่ยวนำคล้ายเสาร์อากาศ เกิดการกวนภายในระบบทำให้เราได้ยินเสียงจี่หรือฮัม

H

Hi-Z

อิมพีแดนซ์ คือ ค่าความต้านทานในวงจรไฟฟ้ากระแสสลับ ที่มีผลต่อเฟสทางไฟฟ้าใช้สัญญาณลักษณ์อักษรย่อเป็นตัว Z Hi-Z เรามักเห็นคำนี้ในอุปกรณ์ที่รับสัญญาณเสียง เช่น มิกเซอร์ ออดิโออินเตอร์เฟส ปุ่ม Hi-Z จะบนออดิโออินเตอร์เฟส อนาล็อกมิกเซอร์ หรือ ดิจิตอลมิกเซอร์บางรุ่น ปุ่มนี้จะกดต่อเมื่ออุปกรณ์ที่นำมาต่อเข้ากับอินพุตมีอิมพิแดนซ์ประมาณ 10kΩ ขึ้นไป เพื่อปรับอินพุตอิมพีแดนซ์ทางฝั่งอินพุตให้มากกว่าฝั่งอุปกรณ์มากกว่าประมาณ 10 เท่า เพื่อให้ภาคปรีแอมป์ของอินพุตขยายสัญญาณได้เต็มที่ และ ไม่มีสัญญาณรบกวนปะปนเข้ามา โดยส่วนใหญ่อุปกรณ์ที่มีค่าความต้านทานสูง เช่น กีตาร์ เบส

I

Insert

แปลว่า แทรก เรามักเห็นช่องสัญญาณ Insert บนอนาล็อกมิกเซอร์ ช่องสัญญาณนี้มีไว้สำหรับนำอุปกรณ์อื่นมาต่อคั่นระหว่างภาคปรีแอมป์กับภาค PEQ ในแชนแนล โดยภาคปรีแอมป์จะส่งสัญญาณเสียงไปอุปกรณ์ที่มาต่อเข้าช่อง Insert ก่อนแล้วค่อยไปยังภาค PEQ ในแชลแนล โดยส่วนใหญ่อุปกรณ์ที่มักมาต่อเข้าช่อง Insert จะเป็น Outboard Gear ที่ใช้ควบคุมไดนามิคเช่น คอมเพรสเซอร์ เพราะในอนาล็อกมิกเซอร์ส่วนใหญ่จะไม่มี คอมเพรสเซอร์ให้มาในแชนแนล และ สายสัญญาณที่ใช้ต่อช่อง Insert จะต้องเป็นสาย Y

IIR (Infinite impulse response)

ทางระบบเสียง จะเป็นฟิลเตอร์ชนิดหนึ่งสำหรับแก้ปัญหาเรื่องเสียง ใช้กันมาในวงการเสียงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถจัดการความถี่เสียง (Magnitude) ได้ แต่จะส่งผลต่อการ Shift ของ phase ที่ความถี่ที่เราจัดการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เสียงที่ได้มีเวลา (Time) บางความถี่ที่เปลี่ยนไปจากต้นฉบับ ยกตัวอย่างเช่น เสียงแหลมจะมาไวกว่าเสียงซับวูฟเฟอร์ IIR จะอยู่ในอุปกรณ์จำพวก DSP เช่นตัวจัดการลำโพง ตู้ลำโพงแอคทีฟ อีควอไลเซอร์ เป็นต้น IIR เป็นเทคโนโลยีที่ยังถูกใช้บ้างในการจัดการกับระบบลำโพง ปัจจุบันอาจถูกแทนที่ด้วย FIR เนื่องจากมีการจัดการกับระบบเสียงที่ทันสมัยกว่า

IP

หรือที่เรารู้จักว่า ค่า IP หรือ International Protection Standard
เป็นมาตรฐานที่บ่งบอกถึงระดับการป้องกัน ฝุ่น และน้ำ
โดยค่า IP จะแสดงด้วยตัวเลขทั้งหมด 2 หลัก แสดงเป็น IPXY ค่า XY จะถูกแทนค่าด้วยตัวเลข เช่น IP56, IP67, IP68 เป็นต้น ซึ่งจะระบุไว้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และอุปกรณ์ไฟฟ้า
รวมไปถึงโทรศัพท์มือถือ นาฬิกาออกกำลังกาย หูฟังไร้สาย ลำโพงบลูทูธ ลำโพงระบบประกาศ ฯลฯ

J

K

L

LOOPBACK

คือการนำสัญญาณเสียงจากอุปกรณ์กำเนิดเสียงนั้นๆ วนกลับเข้าสู่อุปกรณ์เดิมอีกที แบบดิจิตอล เป็นฟังก์ชั่นสำหรับการทำ Audio Capture ยกตัวอย่างเช่น ต้องการไลฟ์ Facebook โดยให้มีเสียงเพลง จากการเปิดเพลงใน Application อื่นด้วย โดยใช้คอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว การทำ Loopback จำเป็นต้องพึ่งพา Software หรือ Hardware เข้ามาช่วย

Latency

คือ ค่าหน่วงเวลาแฝงที่เกิดจากการแปลงสัญญาณ A/D,D/A หรือ การประมวลผลต่างๆของสัญญาณเสียง ของอุปกรณ์ที่เป็นระบบดิจิตอลอย่างเช่น ดิจิตอลมิกเซอร์ , โปรเซสเซอร์ ค่า Latency จะเกิดมาก หรือ น้อย ขึ้นอยู่กับการประมวลผล เช่น ยิ่งใส่ปลั๊กอินเยอะ ใส่อีคิวเยอะ มิกเซอร์ก็มีการประมวลผลที่หนักขึ้น และ มี Latency เยอะมากขึ้นตามในระบบเสียง PA ไม่ควรมี Latency เกิน 8mS เพราะอาจทำให้เวลามีการแสดงดนตรีสดนักร้อง นักดนตรี จะรู้สึกถึงความหน่วงของเสียงจริงกับเสียงที่ออกจากลำโพง อาจทำให้การแสดงดนตรีผิดพลาดได้

line level

เป็นระดับสัญญาณเสียงที่มีความแรงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงค่าอ้างอิงที่ 0 dBV ( 1 โวลต์ ) อาจมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ อุปกรณ์จำพวก line level จะเป็นอุปกรณ์ที่ต้องการไฟฟ้าไปเลี้ยงวงจร ซึ่งนั่นก็คือมีการขยายสัญญาณจากตัวอุปกรณ์มาก่อนแล้วนั่นเอง line level จะมีความแรงในระดับที่ mixer สามารถรวมสัญญาณได้เลย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการอื่น ๆ ในการขยายสัญญาณ หรือหากต้องการให้สัญญาณ line level ผ่าน pre mic เพื่อต้องการคาแรคเตอร์ของเสียง ก็ไม่ผิดแต่อย่างใด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอุปกรณ์ที่เป็น line level จะเป็นอุปกรณ์ที่เป็นการแปลงสัญญาณจาก digital เช่น สัญญาณจากโทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์, Tablet, หรืออุปกรณ์ดนตรี เช่น เครื่องให้จังหวะ, คีย์บอร์ด, เปียโนไฟฟ้า, เครื่องเล่น DJ เป็นต้น หรือแม้แต่อุปกรณ์จัดการเรื่องเสียงเช่น Equalizer, Crossover เอง ก็ให้สัญญาณแบบ Line Level เช่นเดียวกัน

M

Mic Level

หรือสัญญาณไมโครโฟน เนื่องจากการกำเนิดสัญญาณเสียงจากไมโครโฟนมีขนาดที่อ่อนมาก เป็นระดับสัญญาณเสียงที่มีความแรงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงค่าอ้างอิงที่ 0.5 มิลลิโวลต์ หรือประมาณ 0.001 – 0.010 โวลต์ ด้วยเหตุนี้ อุปกรณ์ที่รับเสียงจากสัญญาณประเภท Mic Level เช่น mixer จึงจำเป็นต้องมีวงจรที่ช่วยให้สัญญาณมีความเหมาะสมต่อการรวมสัญญาณ ซึ่งวงจรดังกล่าวเราเรียกว่า Pre Mic สัญญาณขนาดเล็กจะผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้มีความแรงของสัญญาณเพิ่มมากขึ้น นอกจากไมโครโฟนแล้ว อุปกรณ์จำพวก instrument เช่น เครื่องสาย เบส กีต้าร์ ก็ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่ให้สัญญาณในระดับ mic level เช่นกัน

Mastering

กระบวนการสุดท้ายในการปรับเเต่งเสียงเพลงก่อนถึงผู้ฟัง การ Mastering มีจุดประสงค์เพื่อให้เสียงออกมาสมบูรณ์ ทั้งระดับเสียงความดัง-เบา โทนเสียงแหลม-ทุ้ม รวมทั้งมิติความลึก มีหลักการไม่ตายตัว โดยหลักๆ จะเน้นการจัดระดับความดังตามความถี่สูง กลาง ต่ำ ให้มีความเหมาะสม เพื่อยกระดับคุณภาพเพลงที่ออกมาให้มีมาตรฐาน เหมาะกับรสนิยมคนฟังส่วนใหญ่ การ Mastering นิยมทำในโปรแกรมทำเพลง หรือ DAW โดยการใส่เครื่องมือ หรือปลั๊กอินเช่น Gate, EQ หรือ Multiple Compressor เป็นต้น

MP3

ไฟล์เสียงชนิดหนึ่ง ที่มีวิธีการเข้ารหัสสัญญาณเสียงแบบ Digital ค่อนข้างเป็นที่นิยมสำหรับใช้เก็บไฟล์เพลง มีวิธีการบีบอัดข้อมูลแบบมีการสูญเสียข้อมูลบางส่วนบางส่วน หรือ lossy ออกแบบมาเพื่อใช้ลดปริมาณข้อมูลเสียงให้เหลือเพียงเล็กน้อย แต่ข้อมูลที่ลดลงมานี้ก็ยังให้คุณภาพเสียงที่ดีใกล้เคียงกับสัญญาณเสียงต้นฉบับ มีการพิจารณาแล้วว่าระบบการได้ยินของมนุษย์ทั่วไป เกือบจะไม่สามารถแยกแยะได้ แนวคิดของการบีบอัดข้อมูลนี้คล้ายกับการบีบอัดข้อมูลภาพแบบ JPEG คำว่า MP3 มาจากคำว่า “MPEG-1 Audio Layer 3” หรือในคำที่เป็นทางการว่า “ISO/IEC 11172-3 Layer 3”

N

Neodymium magnet (แม่เหล็กนีโอไดเมียม)

เป็นแม่เหล็กถาวร ที่มีความเข้มสูงเมื่อเทียบกับแม่เหล็กชนิดอื่นๆ มีความเปราะ แตกหักง่าย นิยมใช้เป็นวัสดุผลิตดอกลำโพงกำลังวัตต์สูง ทำให้ลำโพงที่ใช้เเม่เหล็กชนิดนี้ มีน้ำหนักเบากว่าการใช้แม่เหล็กแบบธรรมดา ทั้งนี้ทั้งนั้น กระบวนการผลิตดอกลำโพงควรได้มาตรฐาน เนื่องจากแม่เหล็กชนิดนี้ ทนความร้อนได้ไม่สูง ดอกลำโพงมีโอกาสใช้งานไม่ได้เนื่องจากแม่เหล็กเสื่อมนั่นเอง

O

OFC

หรือ Oxygen Free Copper มักจะพบเห็นคำนี้ในอุปกรณ์ที่เป็นสายสัญญาณ สายลำโพงของระบบเสียง OFC ที่ว่าคือ ทองแดงตัวนำที่นำมาทำสายสัญญาณหรือสายลำโพงนั้นเกิดจากกระบวนการการผลิตด้วยวิธีฉีดขึ้นรูปภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปราศจากออกซิเจนทำให้สามารถลดปริมาณออกซิเจนที่อยู่ในเนื้อทองแดงได้น้อยกว่า 10 ppm ส่งผลให้นำไฟฟ้าดีกว่าทองแดงทั่วไป จึงส่งผลให้มีคุณภาพเสียงที่ดีกว่าตัวนำทองแดงแบบธรรมดา

Out Of Phase

หรือที่ชอบพูดกันว่า Out Phase คือ ลักษณะของคลื่นเสียงสองสัญญาณที่เกิดขึ้นที่เวลาต่างโดยห่างกัน 180 องศา ทำให้เสียงช่วงนั้นเบาหายไปสามารถเกิดขึ้นได้หลายสถานการณ์ เช่น การต่อตู้ลำโพง 2 ตู้ แต่ต่อสลับขั้วไป 1 ตู้ ทำให้เรารู้สึกว่าเสียงที่ออกมามีความเบาขาดหายไป เรามักเรียกสถานการณ์นี้ว่า ลำโพง Out Phase

outboard gear

อุปกรณ์ประมวลผล หรือปรุงแต่งสัญญาณเสียง ที่เป็นฮาร์ดแวร์ เช่น คอมเพลสเซอร์ อีควอไลเซอร์ เอฟเฟกต์ ฯลฯ ใช้เป็นตัวจัดการเสียง ทั้งโดยรวมและแยกเฉพาะเจาะจงแต่ละเครื่องดนตรี พบเห็นได้ทั้งใน Studio และงาน Live Sound ปัจจุบัน outboard gear ถูกแทนที่ด้วย Plugin ซึ่งเป็นตัวจัดการเสียงในรูปแบบซอฟต์แวร์ เนื่องจากสะดวกกว่าและทันสมัย แต่ก็ยังมีผู้ใช้งานบางส่วน ที่นิยมใช้ outboard gear เนื่องจากให้เสียงที่เป็นเอกลักษณ์ มีคาแรคเตอร์เฉพาะตัว Plugin บางตัวไม่สามารถให้เสียงแบบ outboard gear ได้

P

PFL/AFL

PFL (Pre Fader Listen) หรือคำว่า Solo คือ ปุ่มที่กดเพื่อฟังเสียงก่อนเฟดเดอร์ใช้สำหรับฟังเสียงในแชนแนลนั้นโดยจะไม่มีผลกับเฟดเดอร์ การเพิ่ม-ลดของเฟดเดอร์จะไม่มีผลต่อเสียงที่ได้ยิน

AFL (After Fader Listen) คือ ปุ่มที่กดเพื่อฟังเสียงหลังเฟดเดอร์ ใช้สำหรับฟังเสียงในแชนแนลนั้นโดย การเพิ่ม-ลดของเฟดเดอร์ จะมีผลต่อเสียงที่ได้ยิน หรือ ดิจิตอลมิกเซอร์บางตัวจะเป็นปุ่ม PAFL คือ ปุ่มที่สามารถตั้งได้ให้เป็นทั้ง PFL และ AFL ได้

Polar Pattern

เรามักเห็นคำนี้ในสเปคของไมโครโฟนแต่ละรุ่น POLAR PATTERN คือ รับเสียงมาจากทิศทางไหนได้บ้าง โดยรัศมีการรับเสียงแบ่งออกเป็นหลายแบบ เช่น Cardioid,Supercardioid,Omnidirectiona รัศมีของไมค์ยังช่วยให้เลือกใช้ไมโครโฟนให้เหมาะกับการใช้งานอีกด้วย เช่น แบบ Cardioid จะมีรัศมีการรับเสียงด้านหน้าได้มาก
และ รับเสียงด้านหลังได้น้อย จึงเหมาะกับการร้อง หรือ การพูด

Polarity

เรามักเห็นปุ่มคำว่า Polarity หรือ สัญญาณลักษณ์ Ø ในแชลแนลของมิกเซอร์ หรือ หลังตู้ลำโพงแอคทีฟ ปุ่มนี้ใช้ในเพื่อต้องการกลับเฟสสัญญาณ 180 องศา เช่น สัญญาณในแชลแนลนั้นอาจจะเกิดการ Out Phase กับสัญญาณแชลแนลอื่นเรากดปุ่ม Polarity เพื่อให้สัญญาณกลับไป In Phase กับสัญญาณแชลแนลอื่น

PFC

หรือ Power Factor Correction เราจะเห็นคำว่า PFC ส่วนใหญ่จากการโฆษณาของผู้ผลิตเพาเวอร์แอมป์ PFC เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการแก้ไขค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าให้กับเพาเวอร์แอมป์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ข้อดีของเพาเวอร์แอมป์ที่มี PFC คือสามารถทำให้เพาเวอร์แอมป์ทำงานได้ขณะไฟตกได้

PEQ

หรือ Parametric Equalizer (พา-รา-มี-ติก-อี-คิว) คือ EQ ชนิดหนึ่ง มีหน้าที่เพิ่มและลดความถี่ โดยที่เราสามารถกำหนดความถี่เองได้ รวมถึงปรับค่าความกว้าง (Q/BW) ของความถี่ซึ่งมีผลที่แตกต่างกันออกไป

PAD

เรามักเห็นปุ่มนี้อยู่ตรงรูเสียบสัญญาณอินพุตของอุปกรณ์เราอยู่เสมอ เช่น อินพุตของมิกเซอร์ ,ออดิโออินเตอร์เฟส , DI Box หน้าที่ของปุ่ม PAD ไว้ใช้สำหรับลดทอนอินพุตที่เข้ามาในตัวอุปกรณ์ที่มีความแรงของสัญญาณมากเกินไปจนอาจทำให้เสียงแตกพล่าได้ โดยส่วนใหญ่ปุ่ม PAD จะมีการเขียนกำกับไว้ว่ากดปุ่มแล้วจะลดสัญญาณลงเท่าไหร่ เช่น PAD -20dB คือ เมื่อมีสัญญาณเข้ามาในอินพุตเมื่อกดปุ่ม PAD สัญญาณที่เข้ามาจะถูกลดความแรงของสัญญาณลง 20 dB

PinkNoise

คือ สัญญาณรบกวนที่ประกอบความถี่ทุกความถี่รวมกันจะมีกำลังสัญญาณลดลง 3 dB/Octave จากความถี่ต่ำไปยังความถี่สูงจะมีลักษณะเสียง ซ่าๆ เหมือนเสียงฝนตก ที่เรียกว่า PinkNoise (สัญญาณรบกวนสีชมพู) เพราะมีลักษณะสเปกตรัมแบบเดียวกับแสงสีชมพู เราจะใช้สัญญาณ PinkNoise ในระบบเสียงของเราอย่างเช่น การ Alignment ระบบเสียง , การวัดเพื่อจูนตู้ลำโพง เป็นต้น

Phantom

คือ การจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง ( DC ) ให้กับอุปกรณ์ที่ต้องใช้ไฟเลี้ยงเพื่อให้ที่มาต่อเข้ากับอินพุตของมิกเซอร์ ( Mixer ) หรือ ออดิโออิเตอร์เฟส ( Audio Interfeac ) เช่น ไมโครโฟรคอนแดนซ์เซอร์ Active DI Box โดยจะมีแรงดันไฟฟ้าอยู่ที่ 12-48VDC

Plugin (ปลั๊กอิน)

เป็นซอฟแวร์ที่จำลองการทำงานของอุปกรณ์เสียงต่าง ๆ เช่น คอมเพลสเซอร์ อีคิว เอฟเฟค ที่มีคุณภาพสูง มีน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ หรือโปรแกรมปรับแต่งเสียงที่อนาล็อคไม่สามารถทำได้
เราสามารถนำปลั๊กอินเหล่านี้มาใช้งานเพื่อปรับแต่งเสียงให้มีคุณภาพเสียงดียิ่งขึ้นในงานดนตรีสดนั่นเอง

power supply

ตัวจ่ายแรงดันและกระเเสไฟฟ้าให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่ไม่สามารถใช้ไฟฟ้า 220 โวลต์ได้โดยตรง มีลักษณะการทำงาน คือทำหน้าที่แปลงกระแสไฟฟ้าจาก 220 โวลต์ เป็นแรงดันไฟฟ้าค่าอื่นๆ และส่วนใหญ่ ทำการแปลงจากกระแสสลับเป็นกระแสตรง ตามแต่ความต้องการของอุปกรณ์นั้นๆ นิยมใช้กันอยู่ 2 ประเภท คือแบบหม้อแปลง และแบบสวิทชิ่ง ซึ่งมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ในระบบเสียง power supply มักฝังอยู่ในอุปกรณ์เหล่านั้นๆเลย เช่นเพาเวอร์แอมป์ เป็นต้น

Q

R

Redundant

ในระบบเสียงคือ ระบบการสำรองต่างๆ ที่จะทำงานต่อเมื่อระบบหลักมีปัญหา และระบบสำรองจะทำงานอัตโนมัติ เพื่อให้อุปกรณ์ยังทำงานได้ต่อเนื่อง เช่น เพาเวอร์ซัพพลายที่จ่ายไฟเลี้ยงให้กับมิกเซอร์
มิกเซอร์บางตัวมีเพาเวอร์ซับพลาย 2 ตัว ถ้าตัวหนึ่งมีปัญหาไม่สามารถจ่ายไฟได้ อีกตัวก็จะทำงานอัตโนมัติ หรือโปรโตคอล Dante ที่มีช่องสัญญาณหลัก คือ Primary เมื่อสายสัญญาณหลักมีปัญหา ระบบก็จะสวิตซ์ไปใช้สัญญาณสำรอง ช่อง Secondary อัตโนมัติมิกเซอร์ที่ระบบ Redundant ในปัจจุบัน เช่น Midas Pro6, Soundcraft Vi2000, ALLEN&HEATH dLIVE S3000

Resonance

การสั่นพ้อง คือการสั่นของความถี่ที่มีผลกับสภาพแวดล้อมรอบข้างทำให้ความถี่บางความถี่มีแอมพลิจูดมากขึ้น เรโซแนนท์สามารถเกิดขึ้นได้หลายๆสถานการณ์ เช่น เมื่อเราไปติดตั้งระบบเสียงในฮอลล์ประชุมที่นึง เมื่อลองเช็คระบบเสียงแล้วสังเกตว่ามีความถี่บางความถี่โดดขึ้นมา เราเรียกความถี่นั้นว่า ความถี่เรโซแนนท์

RTA (Real Time Analyzer)

หรือการวิเคราะห์แบบทันที ในระบบเสียง จะมีอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่รับสัญญาณคือ ไมค์ RTA ชื่อทางการเรียกว่า Measurement Microphone ทำหน้าที่รับสัญญาณจากตู้ลำโพง แล้วแสดงผลออกมาเป็นกราฟเพื่อบอกความดังในแต่ละความถี่ ไมค์ประเภทนี้จะมีการตอบสนองความถี่ราบเรียบ เที่ยงตรง และแม่นยำ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ มีบทบาทสำคัญในการวัดค่าของเสียงต่าง ๆ ในทางวิทยาศาตร์ ทำพรีเซ็ตลำโพง และจูนระบบเสียง

Reverb

เป็นเอฟเฟคประเภทหนึ่ง ที่จำลองสภาพความก้องและความสะท้อนของห้องจริงๆในขนาดที่แตกต่างกันออกไป เสียงจะออกก้อง กังวาล นิยมใช้กับเสียงร้องเเละเครื่องดนตรีบางชนิด เมื่อใส่ร่วมกับเสียงดังกล่าว เสียงที่เกิดขึ้นจากการรวมกันระหว่างเสียงต้นฉบับกับเสียง Reverb จะมีความลากยาวของหางเสียง ซึ่งเอฟเฟคประเภทนี้ สามารถปรับค่าพารามิเตอร์อื่นๆได้ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น ความยาวของเสียง และช่วงเวลาเริ่มของเสียงเอฟเฟค เป็นต้น

Ribbon Microphone

ไมโครโฟนชนิดไดนามิก มีลักษณะเป็นแผ่นโลหะบางๆ แขวนไว้ในสนามแม่เหล็กถาวร เมื่อมีการสั่นสะเทือน ริบบอนจะเคลื่อนที่ภายในสนามแม่เหล็ก จะทำให้เกิดกระแสที่จะเหนี่ยวนำให้เกิดภายในตัวริบบอน และกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กนี้จะถูกส่งไปที่สายไมโครโฟน ไมค์ชนิดนี้ให้คุณภาพ รายละเอียดสูง เสียงค่อนข้างธรรมชาติมากๆ เหมาะกับเสียงร้องเเละเสียงเครื่องดนตรี มีความเปราะบางมากที่สุด ในจำพวกไมโครโฟนไดนามิก ไม่สามารถรับเสียงที่มีความดังมากๆได้ดี ปัจจุบันมีการพัฒนาให้มีความทนทานมากยิ่งขึ้น

S

Sound Pressure Level (SPL)

เป็นค่าที่ใช้วัดระดับความดังของเสียง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะไม่สามารถวัดค่าความเข้มเสียงได้ แต่สามารถวัดค่าความดันของเสียงได้ ด้วยสมการ Lp=20 log P1/P0 ซึ่งค่าที่ได้มีความใกล้เคียงกับความเข้มเสียงมาก ดังนั้นจึงใช้ SPL มาเป็นการวัดค่าความดังโดยใช้หน่อวยวัดความดังเป็น dB

Sidechain

คือ เทคนิคการใช้สัญญาณเสียงอื่นเพื่อทริกโปรสสเซอร์ให้ทำงานในช่องสัญญาณเสียงที่ต้องการ ส่วนใหญ่นิยมใช้กับไดนามิกโปรเสสเซอร์อย่างคอมเพรสเซอร์ และ ลิมิตเตอร์ เช่น ใช้เสียงพูดของ ดีเจทริกลิมิตเตอร์ให้กดเสียงแบ็คกราวด์มิวสิคให้เบาลงขณะพูด หรือ การที่ดนตรี EDM ใช้เสียงกระเดื่องทริกคอมเพรสเซอร์ของเบสให้เบาลง เมื่อเสียงกระเดื่องดังขั้น
นอกจากนี้ยังมีเทคนิคไซด์เชนที่ใช้เสียงหลักแต่เลือกมาเฉพาะบางย่านความถี่ เพื่อมาทริกคอมเพรสเซอร์ได้ เช่น ในขั้นตอนการมาสเตอริ่งมีการใช้เสียงเพลงที่ถูกไฮพาส เพื่อไปทริกคอมเพรสเซอร์ เพื่อไม่ให้เสียงย่านโลวไปทริกคอมเพรสเซอร์ เป็นต้น

SRAGE BOX

สเตจบ็อกซ์ คือ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับต่อสัญญาณอินพุต เอาท์พุต ให้กับดิจิตอลมิกเซอร์ เราจะใช้สเตจบ็อกซ์ในกรณี เช่น ไม่ต้องการลากสายมัลติคอลที่เป็นสัญญาณอนาล็อกยาวๆ หรือ ต้องการเพิ่มอินพุต เอาท์พุต ของ Local หลังเครื่องโดยการเชื่อมต่อระหว่างมิกซ์ กับ สเตจบ๊อกซ์ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเชื่อมต่อผ่านสาย LAN หรือ Fiber Optic ขึ้นอยู่กับโปรโตคอลของผู้ผลิตแต่ละเจ้า เช่น Midas ใช้โปรโตคอล AES50 , YAMAHA ใช้โปรโตคอล Dante (AES67) , Soundcraft ใช้โปรโตคอล MADI โดยจะไม่สามารถนำอุปกรณ์ที่คนละโปรโตคอลกันมาเชื่อมต่อกันได้

Signal to noise Ratio

หรือ SNR คือ อัตราส่วนของสัญญาณเสียง ต่อสัญญาณรบกวนที่เกิดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในตัวเครื่อง เสียงของเรา ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ เช่น เมื่อเราเปิดระบบเสียงของเรา จะมีเสียงซ่าๆเบาๆ ออกจากลำโพงของเรา นั้นคือนอยซ์ที่เกิดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางผู้ผลิตจะระบุค่าของ SNR มาให้ในสเปค ค่า SNR ยิ่งมากยิ่งดี และการเลือกอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในรับบเสียงควรมีค่า SNR ไม่ต่ำกว่า 90 dB

Sampling Rate

มักเห็นคำนี้อยู่อุปกรณ์ในระบบเสียงที่เป็นดิจิตอล Sampling Rate เป็นการบ่งบอกถึงค่าความถี่ที่ใช้ในการสุ่มสัญญาณเสียง เพื่อแปลงสัญญาณเสียงที่เป็นอนาล็อกเป็นข้อมูลทางดิจิตอล เช่น 48kHz/24bit หมายถึงทุกๆ 1 วินาที จะมีการสุ่มสัญญาณเสียง 48,000 ครั้ง หรือ ทุกๆ 20.8uS จะมีการสุ่มความถี่เสียง 1 ครั้ง ส่วนคำว่า 24bit นั้นคือ Bit Depth นั้นคือความละเอียดของแอมพลิจูดของสัญญาณเสียงในการสุ่มแต่ละครั้ง 24bit นั้นหมายความว่าจากจุดที่สามารถรับสัญญาณเสียงที่ต่ำสุดไปถึงจุดที่สูงสุดถูกแบบออกเป็น 16,777,216 ค่า ยิ่งมีค่า Sampling Rate มาก ก็ยิ่งทำให้ได้ข้อมูลทางดิจิตอลที่ใกล้เคียงสัญญาณอนาล็อกมากขึ้นด้วย

Sensitivity (ความไว)

เป็นค่าพารามิเตอร์จำเพาะ ที่บ่งบอกอัตราส่วนที่เปลี่ยนแปลงระหว่างสัญญาณ Output ต่อ Input มีการกำหนดค่าจากการทดลองโดยผู้ผลิตอุปกรณ์ Sensitivity เป็นการตอบสนองหรือแสดงผลต่อสัญญาณที่ถูกป้อนเข้ามา หากอุปกรณ์ใด มีค่า Sensitivity มาก การแสดงผลออกมา จะมีค่ามาก เมื่อเทียบกับอัตราส่วนที่ป้อนเข้า มีหน่วยวัดในระบบเสียงเป็น dB ยกตัวอย่างเช่น ลำโพง 2 ตัวนี้ มี Sensitivity 97dB และ 95dB ตามลำดับ เมื่อป้อนสัญญาณเข้าลำโพงจากเพาเวอร์แอมป์ตัวเดียวกัน โดยปรับความดังที่เท่ากัน ผลที่ออกมา คือลำโพงตัวแรกดังกว่าลำโพงตัวที่ 2

Spider (สไปเดอร์)

ส่วนประกอบหนึ่งของดอกลำโพง มีความยืดหยุ่น ลักษณะเหมือนลูกฟูก มีความสำคัญมากในช่วงย่านความถี่ต่ำ เพราะทำหน้าที่ประคองการเคลื่อนที่ของ Voice Coil (วอยซ์คอยล์) ให้อยู่ในตำแหน่งที่สมดุล เป็นตัวกำหนดกขอบเขตการเคลื่อนที่ของไดอะแฟรมและวอยซ์คอยล์ ว่าสามารถเคลื่อนที่ได้มากน้อยขนาดไหน Spider พบเห็นได้ในดอกลำโพง ส่วนใหญ่จะมีสีเหลือง

Subwoofer

          ส่วนมากเป็นดอกลำโพงขนาดใหญ่ แสดงผลความถี่ต่ำประมาณ 20-200 Hz หากเป็นดอกลำโพงขนาดใหญ่หรือกำลังวัตต์สูงๆ จะตอบสนองความถี่ได้ต่ำกว่า 100 Hz  ลำโพงซับวูฟเฟอร์สร้างขึ้นมาเพื่อเติมเต็มเช่วงความถี่ต่ำในระบบเสียง คำว่า “ซับวูฟเฟอร์” ในทางเทคนิคจะหมายถึง ดอกลำโพงเท่านั้น แต่โดยทั่วไปที่เราใช้พูดและเข้าใจกันมักจะหมายถึง ตู้ลำโพง ด้วย พบเห็นได้ทั่วไปในงานการแสดงดนตรี หรืองานเปิดเพลง ฯลฯ

T

Transfer Function (ความถี่ เฟส และ โคฮีเรนท์)

เป็นฟังชั่นที่ใช้ประโยชน์ในงาน Live sound มากที่สุดทั้งในการจูนพรีเซ็ทลำโพง การทำอไลท์เมนท์ การดีเลย์ การจัดการเฟสของลำโพง รวมถึงการตรวจสอบความสามารถในการตอบสนองด้านความถี่และเฟส ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น มิกซ์เซอร์ อีคิว สปีคเกอร์ โปรเสสเซอร์
หลักของ Transfer Fucntion คือ การเปรียบเทียบความถี่ และเวลาของระบบ เมื่อเทียบกับสัญญาณ Ref วิธีอ่านค่าและวิธีการเก็บข้อมูลที่ถูกต้องนั้นสำคัญ ถ้าเข้าใจพื้นฐานตรงนี้แล้ว ก็สามารถพลิกแพลงการใช้การที่่ซับซ้อนขึ้น แก้ปัญหาได้หลากหลายขึ้นตามความเชี่ยวชาญ

Time window

เป็นตัวช่วยกรองการแสดงผล ที่เกิดจากการสุ่มตัวอย่างของ FFT เพื่อให้การแสดงผลถูกต้องและแม่นยำ จากรูปจะเห็นได้ว่า FFT ในเเต่ละการสุ่มถ้าจุดต่อการสุ่มของคลื่น ต่อเนื่องกัน ผลที่ได้จะไม่มี error เเต่ถ้าไม่ต่อเนื่องจะมีผล Error ให้เห็น การใช้ Time window เพื่อเน้นขอ้มูลในส่วนตรงกลาง เเละลดความสำคัญของส่วนด้านข้างของ เฟรม

U

V

VCA/DCA

VCA ย่อมาจาก Voltage Controlled Amplifier คือ วงจรขยายสัญญาณที่ควบคุมอัตราขยาย โดยแรงดันไฟฟ้า VCA จะอยู่ในอนาล็อกมิกเซอร์
DCA ย่อมาจาก Digitally Controlled Amplifier คือ วงจรขยายสัญญาณที่ควบคุมอัตราขยาย โดยสัญญาณดิจิตอล DCA จะอยู่ในดิจิตอลมิกเซอร์

VCA/DCA ทำงานเหมือนกันจะทำหน้าที่ควมคุมสัญญาณที่ส่งเข้า VCA/DCA ทุกแชลแนลเรามักใช้ VCA/DCA ในกรณีบาลานซ์เสียง เช่น ส่งสัญญาณแชลแนล1-8 เข้า DCA DCA จะทำหน้าที่ควบคุมสัญญาณของแชแนล 1-8  เรามักใช้ VCA/DCA ในการแบ่งพาร์ทดนตรีเพื่อบาลานซ์เสียง

VPL

ย่อมาจาก Voltage Peak Limiter คือ ค่าที่ตั้งเพื่อจำกัดแรงดันสูงสุดที่เอาท์พุตของเพาเวอร์แอมป์เพื่อให้ทำงานไม่เกินแรงดันที่ตั้งไว้ เราจะเห็น VPLในเพาเวอร์แอมป์ส่วนใหญ่อยู่หลังเครื่องเป็นดิฟสวิตซ์สามารถกำหนดหลายค่า และ ยังมีเพาเวอร์แอมป์บางรุ่นที่มี DSP ในตัวสามารถตั้งค่า VPL จากในตัวซอฟแวร์ได้

70/100V

เป็นคำที่ใช้อยู่ในระบบเสียงอยู่ในระบบเสียงแบบโวลไลน์ เป็นระบบที่มีการเดินสายลำโพงยาวมากๆ และมีลำโพงต่อพ่วงหลายๆตัวอยู่ในระบบ เช่น ระบบเสียงตามสายในโรงเรียน ระบบประกาศตามห้างสรรพสินค้า 70/100V เป็นคำที่เขียนอยู่บน ลำโพง และ เพาเวอร์แอมป์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์ตัวนี้สามารถนำมาใช้กับระบบโวลไลน์ได้

Voice coil (วอยซ์คอล์ย)

คือขดลวดที่พันติดกับแกนทรงกระบอก ถูกวางในช่องแคบ ๆ(Gap) ของแม่เหล็ก ปลายขดลวดทั้งสองข้างเชื่อมกับขั้วต่อด้านนอก เป็นชิ้นส่วนสำคัญของไมโครโฟนและลำโพง ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงพลังงานระหว่าง “เสียง” และ “ไฟฟ้า” ใช้หลักการสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในการเหนี่ยวนำ
ในไมโครโฟนรับเสียงจากการสั่นสะเทือนด้วยแผ่นไดอะแฟรม ขดลวดที่ตัดกับแม่เหล็ก จะเปลี่ยนแปลงพลังงานเสียงให้เป็นพลังงานไฟฟ้าแรงดันเล็กๆ ส่งสัญญาณออกไปยังอุปกรณ์อื่น ในส่วนของลำโพง Voice coil ทำหน้าที่เปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าเป็นการสั่นสะเทือน เมื่อเกิดการขยับ กรวยลำโพงจะขยับเข้าออกตาม Voice coil ด้วย ซึ่งทำให้เกิดเสียง

W

wavelength

คือ ความยาวของคลื่นของความถี่ใน 1 ลูกคลื่น (360 องศา) ใช้สัญลักษณ์แทนด้วยตัว λ (แลมด้า) โดยความถี่เสียงแต่ละความถี่จะมีความยาวคลื่นที่ต่างกัน สามารถคำนวณหาได้จากสูตร
λ(ความยาวคลื่น) = v(ความเร็วของเสียงที่เดินทางในอากาศ) / f (ความถี่) ความยาวคลื่นสามารถนำไปใช้คำนวณสิ่งต่างๆในระบบเสียงได้ เช่น การออกแบบตู้ลำโพง หรือ การทำคาร์ดิออยซับวูฟเฟอร์ เป็นต้น

X

Y

Z

ติดตามช่องทางต่างๆของ AT PROSOUND

FACEBOOK ATPROSOUND

YOUTUBE ATPROSOUND


สินค้าแนะนำตามความสนใจ

สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿79.00฿7,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿55.00฿5,500.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
฿135.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿44.00฿3,600.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
฿145.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿93.00฿7,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿34.00฿2,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿71.00฿6,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)

บทความที่คุณอาจชอบ ในหมวดหมู่เดียวกัน

ใส่ความเห็น