จัดอันดับ 10 อาชีพในสายธุรกิจดนตรี

ธุรกิจดนตรี

จัดอันดับ 10 อาชีพในสายธุรกิจดนตรี | เมื่อนึกถึงอาชีพในสาขาดนตรี คุณอาจจะเริ่มนึกถึงจากอาชีพศิลปิน หรือนักดนตรีที่ทำการแสดงอยู่บนเวที แต่เมื่อคุณดึงฉากหลังขึ้นไป คุณจะได้พบกับเหล่าบุคคลต่าง ๆ ในสายงานธุรกิจดนตรี ที่มีส่วนช่วยให้การแสดงหน้าเวทีเกิดขึ้น และเป็นไปได้อย่างราบรื่น บุคคลที่คอยประสานงาน และทำการตลาดให้กับเพลงของศิลปิน คนในสตูดิโอที่ทำหน้าที่บันทึกเสียง และช่วยวางแผนให้การแสดงดนตรีมีความโดดเด่น หรือแม้แต่ผู้เขียนเพลง ผู้เรียบเรียง และอีกมากมาย

จัดอันดับ

อาชีพทางดนตรีมีอะไรที่มากกว่าแค่การเป็นนักดนตรี มันสามารถแตกแขนงออกไปได้หลายสาขาอาชีพ ยิ่งคุณมีคุณสมบัติที่หลากหลายมากเท่าไหร่ โอกาสที่คุณจะได้ทำงานในสายธุรกิจดนตรีก็จะยิ่งมากขึ้นไปด้วย

การเจาะเข้าสู่ตลาดธุรกิจดนตรีนั้น ค่อนข้างมีความแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ และมีการแข่งขันสูง แต่ถ้าคุณฝึกฝนพัฒนาฝีมือของคุณมาเป็นอย่างดี อยู่ให้ถูกที่ถูกทาง ทำความรู้จักกับคนในวงการ และหมั่นเพียรสร้างผลงานเพื่อรับรองเครดิตของคุณ ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะทำให้คุณได้มีจุดยืนในสาขาอาชีพธุรกิจดนตรี บทความนี้จะเป็นการรวบรวม จัดอันดับ 10 อาชีพในสายธุรกิจดนตรี โดย Berklee Online จะมีอาชีพอะไรกันบ้างนั้น เรามาเริ่มกันเลยครับ

  • อาชีพที่ 1 : Music Producer

จัดอันดับ 10 อาชีพในสายธุรกิจดนตรี
ขอบคุณรูปภาพจาก Berklee Online

 

โปรดิวเซอร์เพลงต้องเป็นคนที่รู้ และเข้าใจการผสมผสานระหว่างความคิดสร้างสรรค์ และความรู้เชิงพาณิชย์ทางธุรกิจ อีกทั้งยังต้องเป็นคนที่คอยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างศิลปิน และค่ายเพลงอีกด้วย โปรดิวเซอร์เพลงต้องสร้างสภาพแวดล้อม ที่ช่วยให้ศิลปินสามารถสร้างสรรค์ผลงาน และแสดงออกได้ ต้องคอยจัดการกับรายละเอียดต่าง ๆ มากมายในการบันทึกเสียงของศิลปิน รวมถึงการเลือกวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ในการบันทึกเสียง , ติดต่อประสานงานกับ Recording Engineer , ปรับเปลี่ยน พลิกแพลง และจัดสรรงบประมาณต่าง ๆ อีกด้วย

สิ่งที่ต้องเรียนรู้ : หากคุณต้องการที่จะเป็นโปรดิวเซอร์เพลง ให้ลองเรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีดนตรี และหลักการความรู้เรื่องเสียง เริ่มจากเรียนรู้ศึกษาเกี่ยวกับซอฟท์แวร์ต่าง ๆ และต้องแยกให้ออกว่าคุณภาพเสียงแบบไหนคือเสียงที่ดี ในการเป็นโปรดิวเซอร์เพลงที่ยอดเยี่ยม คุณต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง Sound Engineer และเทคนิคการมิกซ์เพลง หรือจะลองเริ่มจากการวิเคราะห์เพลงอัลบั้มโปรดของคุณ ดูว่าใครเป็นคนโปรดิวซ์ ใครคือ Sound Engineer ใครมีส่วนร่วมในอัลบั้มนั้น ตำแหน่งหน้าที่อะไรบ้าง และจากนั้นก็ศึกษาจากผลงานของพวกเขาเหล่านี้ หาบทสัมภาษณ์ เรียนรู้เทคนิค และมุมมองทัศนคติของพวกเขา อย่างไรก็ตามที่กล่าวมานี้ไม่ใช่หนทางเดียว ที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จในการเป็นโปรดิวเซอร์เพลง เพียงแต่เป็นแนวทางเท่านั้น คุณสามารถสร้างเส้นทาง และพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับคุณได้เอง 

 

  • อาชีพที่ 2 : Recording Engineer

จัดอันดับ 10 อาชีพในสายธุรกิจดนตรี
ขอบคุณรูปภาพจาก Berklee Online

 

Recording Engineer มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการบันทึกเสียง ปรับจูนเสียงในสตูดิโอ ใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในการควบคุมดูแล และทำงานบนอุปกรณ์ระบบบันทึกเสียง ที่เป็นทั้งระบบอนาล็อก และระบบดิจิตอล นอกจากนี้คุณยังต้องรับผิดชอบรู้จักเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละกระบวนการอีกด้วย 

สิ่งที่ต้องเรียนรู้ : มีความรอบรู้ด้านเทคโนโลยีการบันทึกเสียงที่หลากหลาย และบ่อยครั้งต้องใช้ทักษะการมิกซ์ และตัดต่อเสียง คุณจะต้องรู้วิธีรับมือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละกระบวนการของการบันทึกเสียง

 

  • อาชีพที่ 3 : Session Musician

จัดอันดับ 10 อาชีพในสายธุรกิจดนตรี
ขอบคุณรูปภาพจาก Berklee Online

 

Session Musician หรือ “นักดนตรีห้องอัด” เป็นนักดนตรีที่ทำหน้าที่ในการบันทึกเสียงให้กับศิลปิน และบางครั้งคุณอาจจะมีส่วนร่วมกับศิลปินในการแสดงสดอีกด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่า นักดนตรีห้องอัดค่อนข้างที่จะมีอิสระ และความยืดหยุ่นในการที่จะเล่นกับสไตล์เพลงที่หลากหลายนั่นเอง คุณจะได้มีโอกาสได้พบปะ และสร้างความสัมพันธ์กับนักดนตรีคนอื่น ๆ อีกมากมาย ยิ่งถ้าคุณมีทักษะความเชี่ยวชาญทางด้านดนตรี โอกาสที่คุณจะประสบความสำเร็จในการเป็นนักดนตรีห้องอัดก็เป็นไปได้ไม่ยากเลย

สิ่งที่ต้องเรียนรู้ : นักดนตรีห้องอัดต้องขึ้นชื่อในเรื่องของฝีมือ ทั้งด้านการเล่น การเรียบเรียงดนตรี ทักษะการนำเสนอตัวเองให้น่าสนใจ ประสบการณ์บนเวที และที่สำคัญก็คือการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีนั่นเอง

 

  • อาชีพที่ 4 : Artist Manager

จัดอันดับ 10 อาชีพในสายธุรกิจดนตรี
ขอบคุณรูปภาพจาก Berklee Online

 

ผู้จัดการศิลปินคือผู้ที่คอยสร้างโอกาส ขับเคลื่อน และติดต่อประสานงานให้กับศิลปินในเชิงธุรกิจ ต้องเชื่อมั่นในศิลปิน และช่วยให้พวกเขามีความมั่นคงทางอาชีพ ด้วยการวางแผน การจัดการ การกำกับดูแล และการเจรจา การเป็นผู้จัดการศิลปินคุณอาจจะไม่ได้รับเครดิต ไม่ได้เป็นที่สนใจจากแฟนเพลงแบบที่ศิลปินได้รับ แต่อย่างไรก็ตามคุณก็ต้องทำหน้าที่ผู้จัดการศิลปินให้ดีเยี่ยมที่สุด เพราะเชื่อเถอะว่า ความสำเร็จของศิลปินก็เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จของคุณในฐานะ “ผู้จัดการศิลปิน” เช่นกัน

สื่งที่ต้องเรียนรู้ : ในการเป็นผู้จัดการศิลปินนั้น ทักษะในด้านการจัดการ และทักษะความเป็นผู้นำถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแค่นั้น คุณจะต้องมีทักษะในการเป็นตัวแทนเจรจา เพื่อรับงานให้กับศิลปินอีกด้วย

 

  • อาชีพที่ 5 : Tour Manager

การเป็นผู้จัดการทัวร์ คุณจะเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับศิลปินในการเดินสายทัวร์งานต่าง ๆ ผู้จัดการทัวร์จะคอยอยู่เบื้องหลัง และมีหน้าที่คอยกำกับควบคุมดูแลทั้งเรื่องการเดินทาง ที่พัก กำหนดการ และการเงินงบประมาณต่าง ๆ เพื่อให้งานทัวร์ดำเนินไปตามแผนอย่างราบรื่น ดังนั้นผู้จัดการทัวร์ต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง โดยเฉพาะด้านการเงิน ทั้งต่อตัวเอง และต่อศิลปินอีกด้วย

สิ่งที่ต้องเรียนรู้ : คุณจะต้องรู้จัก และเข้าใจทักษะการจัดการในด้านธุรกิจดนตรีในระดับหนึ่ง ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โลจิสติกส์การท่องเที่ยว หลักการบัญชี และการจัดการกับเวลา พร้อมรับประสบการณ์ใหม่ ๆ ในด้านต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมดนตรี เรียนรู้ที่จะคาดการณ์ และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดคิด ที่อาจจะส่งผลต่อแผนกำหนดการทัวร์ 

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

 

  • อาชีพที่ 6 : Music Teacher

จริง ๆ แล้วครูสอนดนตรีสามารถสอนได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะสอนที่โรงเรียน สอนที่ร้านเครื่องดนตรี หรือรับสอนอิสระแบบตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็นการสอนทฤษฎีดนตรี หรือสอนเป็นเครื่องดนตรีเฉพาะ ครูสอนดนตรีค่อนข้างที่จะมีอิสระในการสอน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีข้อดีและอุปสรรค ที่ต้องเผชิญในการเป็นครูสอนดนตรีที่แตกต่างกันออกไป หากคุณเป็นผู้ที่ชอบแชร์ความรู้ และผ่านการฝึกฝนตนเองมาอย่างดี อาชีพครูสอนดนตรีก็อาจจะเหมาะกับคุณก็ได้

สิ่งที่ต้องเรียนรู้ : สิ่งที่ต้องเรียนรู้ และสิ่งที่ต้องมีในการเป็นครูสอนดนตรี ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณชอบสอนแบบไหนมากกว่ากัน ยกตัวอย่างเช่น การเป็นครูสอนประจำในโรงเรียน สิ่งที่คุณต้องมีนั่นก็คือ “ใบรับรอง” แต่หากคุณต้องการสอนอิสระ คุณจะต้องมีความเชี่ยวชาญ และมีความมั่นใจในสิ่งที่คุณจะสอน

 

  • อาชีพที่ 7 : Booking Agent

จัดอันดับ

จัดอันดับ 10 อาชีพในสายธุรกิจดนตรี
ขอบคุณรูปภาพจาก Berklee Online

 

Booking Agent หรือ “ตัวแทนจอง” มีหน้าที่คือพาศิลปินขึ้นเวที คอยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการแสดงสด รวมถึงการรักษาความปลอดภัยของสถานที่จัดคอนเสิร์ต การเจรจาข้อตกลง การจัดหาอุปกรณ์ทางเทคนิค และการต้อนรับ ตัวแทนจองจะทำงานกับ “ผู้จัดการศิลปิน” อย่างใกล้ชิด คอยสนับสนุนงานให้ลุล่วงตามกำหนดตารางงานทัวร์ของศิลปิน

สิ่งที่ต้องเรียนรู้ : สิ่งที่จำเป็นสำหรับ Booking Agent คือ ใบรับรองปริญญาด้านการจัดการ การตลาด หรือบัญชี และที่สำคัญก็คือทักษะความรู้เกี่ยวกับการเจรจาสัญญา กฎหมายลิขสิทธิ์ การขาย การตลาด และทักษะการวางแผนงานนั่นเอง

 

  • อาชีพที่ 8 : Music Publicist

จัดอันดับ 10 อาชีพในสายธุรกิจดนตรี
ขอบคุณรูปภาพจาก Berklee Online

 

นักประชาสัมพันธ์เพลง เป็นคนที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักการตลาด รวมถึงสื่อมิเดียต่าง ๆ ซึ่งหน้าที่ของนักประชาสัมพันธ์เพลง ก็คือ การเพิ่มความนิยมเชิงบวกให้กับศิลปิน ทั้งด้วยการทำยอดขายบัตรคอนเสิร์ต การเผยแพร่เพลงของศิลปินลงสื่อมีเดีย หรือการโปรโมทในรายการวิทยุ เป็นต้น นักประชาสัมธ์เพลงค่อนข้างมีบทบาทที่มากกว่าการทำพีอาร์ แต่มันคือการขายเรื่องราว การสร้างเครือข่าย การจัดการค่าความนิยม และการรักษามาตรฐานในทุกด้านให้ดียิ่งขึ้นไป

สิ่งที่ต้องเรียนรู้ : พื้นฐานของบทบาทนักประชาสัมพันธ์เพลง จะมีความเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร และการตลาด ดังนั้นให้เริ่มที่การศึกษาเรียนรู้กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ พัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความนิยมให้กับศิลปิน นักประชาสัมพันธ์เพลงจึงต้องสร้างเครือข่ายให้กว้าง เพื่อการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ

 

  • อาชีพที่ 9 : Composer

จัดอันดับ 10 อาชีพในสายธุรกิจดนตรี
ขอบคุณรูปภาพจาก Berklee Online

 

นักแต่งเพลงไม่ได้ยึดติดว่าต้องเป็นแนวเพลงแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องสามารถแต่งได้ทั้งเพลงประกอบภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งวิดีโอเกม นอกจากนี้ยังต้องสามารถแต่ง หรือเรียบเรียงเพลงเพื่อการบันทึกเสียง และการแสดงสดในแนวเพลงต่าง ๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าคุณจะชอบแนวดนตรีแบบไหนก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือคุณต้องมีความเข้าใจในทฤษฎีดนตรีอย่างเชี่ยวชาญ ต้องสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้อย่างน้อยหนึ่งชิ้น หรือมากกว่า และมีความสามารถทางเทคนิค ในการบันทึกเสียงสิ่งที่คุณเรียบเรียงได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่ต้องเรียนรู้ : สิ่งสำคัญในการเป็นนักแต่งเพลง นั่นคือการเรียนรู้และประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในเครื่องดนตรีหนึ่งหรือหลายเครื่อง และมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับทฤษฎี และการเรียบเรียงดนตรี การเป็นนักแต่งเพลงที่ยอดเยี่ยม หมายถึง การเข้าใจเทคนิค และกลไกของดนตรีในหลายระดับ โดยอาจจะลองเริ่มด้วยการศึกษาเกี่ยวกับซอฟท์แวร์ต่าง ๆ เช่น โปรแกรมบันทึกโน๊ต และโปรแกรมบันทึกเสียง เป็นต้น

 

  • อาชีพที่ 10 : Music Arranger

ผู้เรียบเรียงดนตรีมีหน้าที่นำเพลงที่เขียนขึ้น มาทำให้เป็นรูปเป็นร่างโดยการเรียบเรียง เพื่อให้เพลงนั้นมีความสมบูรณ์เป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจจะมีลูกค้าขอให้คุณหยิบเพลงป๊อปมาสักเพลง และเปลี่ยนจังหวะให้เป็นละติน ทำให้เพลงสั้นลง หรือทำให้ยาวขึ้น หรืออาจจะขอให้เปลี่ยนคีย์ไปเลย และนี่คือหน้าที่ของคุณที่จะทำให้มันเป็นไปตามนั้น การเรียบเรียงดนตรีเป็นทักษะเฉพาะทาง และสามารถทำงานได้ทั้งแบบ Freelance หรือทำงานร่วมกันกับวงดนตรี หรือแม้กระทั่งเซ็นสัญญาเป็นนักเรียบเรียงดนตรีให้กับค่ายเพลงก็เป็นได้

สิ่งที่ต้องเรียนรู้ : ทักษะที่จำเป็นของการเป็นนักเรียบเรียงดนตรี นั้นไม่ต่างจากการเป็นนักแต่งเพลง ทั้งการเรียนรู้และประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในเครื่องดนตรีหนึ่งหรือหลายเครื่อง และมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับทฤษฎี และการเรียบเรียงดนตรี และที่สำคัญต้องศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับโปรแกรมบันทึกเสียง และเทคนิคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

บทความโดย : ณัฐพจน์ วิจารัตน์
บทความอ้างอิง : Top 10 Careers in the Music Business by Berklee Online


สินค้าแนะนำตามความสนใจ

สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿79.00฿7,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿55.00฿5,500.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
฿135.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿44.00฿3,600.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
฿145.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿93.00฿7,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿34.00฿2,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿71.00฿6,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)

บทความที่คุณอาจชอบ ในหมวดหมู่เดียวกัน

ใส่ความเห็น