6 หัวข้อ เรียนรู้การเป็นโปรดิวเซอร์ (Producer)

Music Production

Music Production คือ กระบวนการหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานเพลง ตั้งแต่ขั้นตอนการบันทึกเสียง การจัดการ ปรับปรุงแต่งแก้ไขให้ผลงานมีความสมบูรณ์แบบที่สุด ตามที่ผลงานนั้นควรจะเป็น และเหมาะสมพอที่จะให้ผลงานเพลงนั้นเผยแพร่ออกไปสู่ผู้ฟัง ทุกเพลงที่คุณรู้จัก หรือเคยฟัง ล้วนมีกระบวนการผลิตตามที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ว่าเพลงนั้นจะเป็นที่รู้จักมากน้อยเพียงใด และไม่ว่าในตัวผลงานเพลงนั้นจะมีความสลับซับซ้อน ล้ำลึก เต็มไปด้วยรายละเอียดทางดนตรีมากน้อยแค่ไหนก็ตาม

 

โปรดิวเซอร์เพลง

 

การผลิตเพลงระดับมืออาชีพ ในฐานะโปรดิวเซอร์เพลง คุณจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และมีเทคนิค คุณต้องใช้ทักษะการฟังที่ได้รับการพัฒนามาอย่างดี การจัดการที่ดีในด้านเทคโนโลยีการบันทึกเสียง ความรู้ด้านดนตรีอย่างลึกซึ้ง และทักษะการจัดการโปรเจค แม้กระทั่งทักษะการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ

 

หากคุณกำลังคิดที่จะเข้าสู่วงการโปรดิวซ์ นี่คือความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเป็น โปรดิวเซอร์เพลง ที่คุณควรรู้ :

 

สารบัญ

  1. โปรดิวเซอร์เพลง คืออะไร
  2. โปรดิวเซอร์เพลง ต้องทำอะไรบ้าง
  3. กว่าจะได้เป็นเพลง
  4. อาชีพโปรดิวเซอร์เพลง รายได้ดีไหม
  5. Music Production อุปกรณ์ที่ต้องมี
  6. จะเป็นโปรดิวเซอร์เพลงได้อย่างไร

 

โปรดิวเซอร์เพลง คืออะไร

โปรดิวเซอร์เพลง คือ ผู้ที่คอยช่วยเหลือศิลปินในการทำโปรเจค การบันทึกเสียง เป็นผู้นำวิสัยทัศน์ของศิลปินไปสู่ผลลัพธ์ และเป็นไกด์ไลน์ของพวกเขาไปพร้อมกัน การเป็นโปรดิวเซอร์เพลงนั้นเป็นงานที่แปลกในหลาย ๆ ด้าน สิ่งที่โปรดิวเซอร์เพลงสร้างขึ้นไม่สามารถเห็นได้ ไม่ใช่แม้แต่วัตถุ หากคุณมองดูที่ภาพรวม สิ่งที่โปรดิวเซอร์เพลงทำเพื่อหาเลี้ยงชีพคือ การทำให้โมเลกุลของอากาศก้องกังวาน ในลักษณะที่เมื่อโมเลกุลของอากาศนั้นชนกับรูปแบบชีวิตมนุษย์ รูปแบบชีวิตนั้นจะรู้สึกถึงอะไรบางอย่าง

กลับสู่สารบัญ

 

โปรดิวเซอร์เพลง ต้องทำอะไรบ้าง

โปรดิวเซอร์เพลง มักจะมีบทบาทที่คลุมเครืออยู่เสมอ เพราะหลายสิ่งที่โปรดิวเซอร์เพลงต้องทำเป็นอะไรที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก
เป็นคนทำหน้าที่ควบคุมการบันทึกเสียง ใช่หรือไม่ ? : ใช่
เป็นคนคอยรับสายประสานงาน และรับศิลปินเซ็นสัญญา ใช่หรือไม่ ? : ใช่
บางครั้งก็เล่นเอง เขียนเพลงเอง และไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างสมาชิกในวง ใช่หรือไม่ ? : ใช่

จริง ๆ แล้วโปรดิวเซอร์เพลงมีบทบาทหน้าที่มากมาย แต่ 4 ข้อต่อไปนี้ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด :

  • กำหนดการ และงบประมาณ

อย่างแรก ความรับผิดชอบของโปรดิวเซอร์เพลง คือ การจัดกำหนดการเซสชั่นบันทึกเสียง ภายในงบประมาณที่กำหนด และนำพาศิลปินผ่านตารางเวลานั้นอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังรับผิดชอบโปรเจคให้มีความสำเร็จลุล่วงทั้งด้านเทคนิค และศิลปะ

เหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้โปรดิวเซอร์เพลงได้รับงาน นั่นคือผลงานที่ได้รับการยอมรับ และความเป็นมืออาชีพของโปรดิวเซอร์เพลง เช่น สามารถทำการบันทึกเสียง และสามารถส่งงานได้ตรงตามเวลาที่ได้ตกลงตามสัญญากับลูกค้า สำหรับโปรดักชั่นเชิงพาณิชย์ของค่ายเพลงทั้งรายเล็กรายใหญ่ ความตรงต่อเวลาในการส่งงานให้ค่ายเพลง จะเป็นส่วนสำคัญของกำหนดการต่าง ๆ ในขั้นตอนต่อไป ตัวอย่างเช่น วางแผนการตลาด การประชาสัมพันธ์เพื่อเปิดตัวผลงานเพลงของศิลปิน เป็นต้น 

  • การปรับเพลง

โปรดิวเซอร์เพลง มีหน้าที่อย่างหนึ่งก็คือ ต้องนำวัตถุดิบของเพลงของศิลปิน มาปรับ เคาะให้เข้าที่เข้าทาง ให้ออกมาเป็นเพลงที่สมบูรณ์ ทำให้เพลงนั้นมีมูลค่าทั้งเชิงศิลปะและเชิงพาณิชย์ ต้องแสดงให้เห็นถึงเจตนาทางดนตรีและอารมณ์ของศิลปิน แต่ก็ต้องทำให้เข้าถึงผู้ฟังในวงกว้างด้วย

จอร์จ มาร์ตินให้ความเห็นว่า โปรดิวเซอร์เพลง คือคนที่วางกรอบทุกอย่าง นำเสนอต่อสาธารณชน และพูดว่า นี่คือสิ่งที่มันเป็น รสนิยมของโปรดิวเซอร์เพลงที่ทำให้มันเป็นอย่างที่เป็น

  • กำกับดูแลการแสดง

โปรดิวเซอร์เพลง ต้องรู้วิธีที่จะดึงเอกลักษณ์ และจุดแข็งที่สุดของศิลปินออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับโปรดิวเซอร์เพลง ความเชื่อในการตอบสนองทางอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะความมั่นใจที่จะพูดว่า “ฉันชอบแบบนี้” เป็นหัวใจสำคัญของบทบาทในการเป็นโปรดิวเซอร์เพลง พวกเขาใช้หลักการนี้ในแทบทุกขั้นตอนของกระบวนการโปรดักชั่น การตัดสินใจว่าจะใช้แทร็คไหน อะไร อย่างไร โปรดิวเซอร์เพลงจะเป็นผู้ตัดสินใจทั้งหมด

  • Work vs. Play

โปรดิวเซอร์เพลง ต้องรักษาความสมดุลที่ละเอียดอ่อน ระหว่างความจริงจัง และองค์ประกอบที่สร้างสรรค์ที่ผสมผสานกันออกมาเป็นผลงานเพลงที่น่าฟัง โปรดิวเซอร์เพลงที่มีทักษะสร้างความสมดุลระหว่างสองด้านนี้ และสามารถทำให้สิ่งที่เป็นเพียงไอเดียความคิด ให้กลายเป็นรูปเป็นร่างได้ ถือว่าเป็นโปรดิวเซอร์เพลงที่นักดนตรี ศิลปินโปรดปรานอย่างมาก

 

สิ่งแรกที่ต้องทำคือการสร้างบรรยาศการทำงานให้สนุก สบาย ๆ แน่นอนว่าผู้เป็นโปรดิวเซอร์เพลง ตระหนักดีถึงงานที่ต้องทำให้สำเร็จในแต่ละเซสชั่น แต่ต้องเก็บความคิดเหล่านั้นไว้กับตัวเอง

ต่อไปนี้… คือวิธีสร้างบรรยากาศที่ดี เพื่อช่วยในการทำงานโปรดิวซ์

  • ความคิดเชิงบวก

ความสนุกสนานตั้งอยู่บนพื้นฐานของแง่บวก การมองโลกในแง่ดี และจิตวิญญาณของความเป็นทีม ในฐานะผู้นำ ความรู้สึกเชิงบวกเริ่มต้นที่ตัวคุณ หากคุณและศิลปินเห็นพ้องกันว่า “ความสนุกสนาน” คือเป้าหมายในการทำงาน ในทางกลับกัน ความรู้สึกเชิงลบ ก็สามารถทำลายบรรยากาศการทำงานร่วมกันระหว่างโปรดิวเซอร์เพลง และศิลปินได้

  • ความมั่นใจ

บทบาทความเป็นผู้นำของโปรดิวเซอร์เพลง คือ การสร้างแรงบันดาลใจ และปลูกฝังความรู้สึกว่า ทุกอย่างจะออกมาดี ให้แก่ทีม หากโปรดิวเซอร์เพลงเตรียมตัวมาอย่างดี มีประสบการณ์ และตระหนักดีถึงสิ่งที่ต้องทำในแต่ละขั้นตอน พวกเขาก็ถือว่ามีคุณสมบัติของการเป็นโปรดิวเซอร์ที่ดี

  • ก้าวต่อไป

โปรดิวเซอร์เพลงที่ดีทุกคนทราบดีว่า พัฒนาการ และการขับเคลื่อนตัวเองไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งจำเป็นต่อกระบวนการผลิตเพลง ดั่งแนวความคิดที่ว่า ฉลามต้องว่ายน้ำต่อไป และเสี่ยงตายเพื่อให้ได้เป็นตำนาน การจบงานได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพจากงานหนึ่ง ไปยังอีกงานหนึ่งสามารถสร้างแรงผลักดันของตัวเองได้เป็นอย่างดี

  • ความสุขของการบันทึกเสียง

ใช่ครับ… การทำงานบันทึกเสียง เป็นงานที่น่าสนุกที่สุดงานหนึ่ง ที่คุณสามารถใช้จินตนาการของคุณได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นอย่าลืมที่ทำมันอย่างเต็มที่ และทัศนคติที่ดีก็สามารถทำให้เกิดความสนุกสนาน และเสียงหัวเราะได้

กลับสู่สารบัญ

 

โปรดิวเซอร์เพลง

Music Production
(ขอบคุณรูปภาพจาก Berklee Online)

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

 

กว่าจะได้เป็นเพลง

ความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรีสามารถมีได้หลายรูปแบบ อาจเป็นรูปแบบกลอง และเบสที่เรียบง่าย ๆ ที่ถูกทำให้เป็นเพลงที่สมบูรณ์ด้วยทำนอง เนื้อร้อง และการเดินคอร์ด จากนั้นในขั้นสุดท้ายจะเกี่ยวข้องกับการเรียบเรียงดนตรี และการใช้เครื่องมือใด ๆ ในการโปรดิวซ์ให้ได้เพลงที่สมบูรณ์ออกมาสักเพลง

ขั้นตอนในการผลิตผลงานเพลง มีดังต่อไปนี้

  • ไอเดียเพลง (Musical Ideas)

เพลงที่คุณจะทำ และเครื่องดนตรีที่คุณจะใช้ในการเรียบเรียง ในฐานะโปรดิวเซอร์เพลง คุณจะต้องเป็นคนตัดสินใจเลือกส่วนที่จะบันทึก และใครจะเป็นคนเล่น

  • การบันทึกเสียง (Recording)

การเล่นสิ่งที่เป็นองค์ประกอบจากการเรียบเรียงดนตรี จะถูกบันทึกลงในอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ในรูปแบบของเสียง และข้อมูล MIDI

  • การแก้ไข (Editing)

เมื่อใช้วิธีการเรียบเรียงด้วย MIDI หรือการบันทึกเสียงลงบนฮาร์ดดิสก์ การเล่นที่เราบันทึกลงไปสามารถแก้ไขได้หลายวิธี เพื่อเปลี่ยนแปลงคุณภาพแต่ละรายละเอียดของเพลง รวมถึงการเรียบเรียงอีกด้วย

  • การปรุงแต่ง และผสมเสียง (Mixing)

ในแต่ละ Track ที่ถูกบันทึกลงไป เป็นการบันทึกแบบ Multitrack ที่รวมกัน และประมวลผลโดยใช้เอฟเฟค เพื่อสร้างการบันทึกเสียงให้รวมกันออกมาเป็น Stereo 

  • การทำมาสเตอร์ (Mastering)

เมื่อได้เพลงที่เป็นสเตอริโอมิกซ์ที่เสร็จแล้ว สำหรับการปล่อยสู่คนฟังในรูปแบบ CD หรือไฟล์ดิจิตอลก็ตาม ในขั้นตอนสุดท้าย ต้องทำการปรับแต่เสียงที่สเตอริโอมิกซ์ ให้ได้ไฟล์เพลงที่เหมาะสมกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ 

กลับสู่สารบัญ

 

อาชีพโปรดิวเซอร์เพลง รายได้ดีไหม

อาชีพโปรดิวเซอร์เพลง รายได้ดีไหม ? จริง ๆ แล้วคำตอบของคำถามนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และเครดิตของโปรดิวเซอร์เพลงเอง และเมื่อปี 2016 The Career Development Center ของมหาวิทยาลัยดนตรี Berklee ได้มีการทำวิจัยเกี่ยวกับอัตรารายได้ต่อปีของอาชีพสาย Music Production ต่าง ๆ เอาไว้ สามารถอ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่ Music Careers Dollars and Cents ซึ่งได้มีการระบุเอาไว้ว่า โปรดิวเซอร์เพลงสามารถสร้างรายได้ ๆ ทุกที่ ตั้งแต่ $25,000 ถึง $1,000,000 หรือมากกว่านั้นต่อปี (ซึ่งอัตราราคาการจ้างงานของโปรดิวเซอร์เพลงในประเทศไทย อาจจะต่างจากนี้ออกไป)

กลับสู่สารบัญ

 

Music Production อุปกรณ์ที่ต้องมี

ในอดีต… อุปกรณ์ด้าน Music Production ค่อนข้างมีราคาที่สูงมาก แต่ปัจจุบันไม่ว่าใครก็สามารถซื้อมาใช้งานตามบ้านได้อย่างสบาย ๆ 

ซึ่งอุปกรณ์พื้นฐานที่ต้องใช้ มีดังต่อไปนี้ : 

  • คอมพิวเตอร์
  • Digital Audio Workstation (DAW หรือโปรแกรมบันทึกเสียง) เช่น Pro Tools , Logic Pro , GarageBand เป็นต้น
  • MIDI Controller
  • Audio Interface
  • ไมโครโฟน
  • หูฟัง
  • ลำโพงมอนิเตอร์

อุปกรณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าทึ่ง แต่หัวใจที่แท้จริงของการบันทึกเสียงนั้น ก็คือผู้คน ก็จริงที่เรารักในอุปกรณ์ เรารักในสตูดิโอ แต่ความเป็นดนตรีต้องมาก่อน การบันทึกเสียงที่ดีที่สุด คุณต้องรักษาความเป็นมนุษย์ในเพลงเอาไว้ จนกว่าคุณจะพร้อมที่จะลงทุนในรายการดังกล่าวข้างต้น และทำมันอย่างจริงจัง อุปกรณ์การผลิตเพลงนั้นสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่เรียบง่าย แม้กระทั่งเครื่องบันทึกเสียงในโทรศัพท์ของคุณ

กลับสู่สารบัญ

 

จะเป็นโปรดิวเซอร์ได้อย่างไร

ผู้ใฝ่ฝันในการเป็นโปรดิวเซอร์เพลง หลายคนต้องผ่านการฝึกงานในฐานะผู้ช่วยฝ่ายผลิต กับโปรดิวเซอร์เพลงมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับในวงการ คอยจัดการกับรายละเอียดต่าง ๆ และให้การช่วยเหลือในแต่ละเซสชั่นของ Music Production นอกจากจะได้รับประสบการณ์แล้ว ผู้ช่วยฝ่ายผลิตยังสามารถสร้างความสัมพันธ์กับ Sound Engineer บุคลากรในสตูดิโอ และศิลปินได้อีกด้วย คนเหล่านี้เป็นผู้ที่สามารถเป็นแรงผลักดันในอาชีพโปรดิวเซอร์เพลงได้อย่างดีเยี่ยม แม้ว่าโปรดิวเซอร์เพลงมืออาชีพส่วนใหญ่จะเป็นฟรีแลนซ์ก็ตาม แต่หลายคนก็ทำงานร่วมกับบริษัทค่ายเพลง และสตูดิโอบันทึกเสียงครับ

กลับสู่สารบัญ

 

โปรดิวเซอร์เพลง

Music Production
(ขอบคุณรูปภาพจาก WallpaperCraft)

 

บทความโดย : ณัฐพจน์ วิจารัตน์
บทความอ้างอิง : Berklee Online


สินค้าแนะนำตามความสนใจ

สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿79.00฿7,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿55.00฿5,500.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
฿135.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
฿145.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿44.00฿3,600.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿93.00฿7,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿34.00฿2,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿71.00฿6,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)

บทความที่คุณอาจชอบ ในหมวดหมู่เดียวกัน

ใส่ความเห็น