วิธีใช้ !! มิกเซอร์ดิจิตอล ตั้งแต่พื้นฐาน

วิธีใช้ มิกเซอร์ดิจิตอล

วิธีใช้ !! มิกเซอร์ดิจิตอล | สำหรับผู้ที่เริ่มจับ หรือเริ่มหัดใช้งาน “มิกเซอร์ดิจิตอล” หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยผ่านประสบการณ์การใช้งานมิกเซอร์อนาล็อกกันมาบ้างแล้วใช่ไหมครับ มิกเซอร์ดิจิตอลนั้นมีหลักการทำงานไม่ต่างจากมิกเซอร์อนาล็อกมากนักอย่างที่คิด เพียงแต่อาจมีความสลับซับซ้อนเมื่อดูจากภายนอก และมีความลงลึกในรายละเอียดมากขึ้นเท่านั้นเอง ส่วนฟังก์ชั่นอื่น ๆ ที่เป็นส่วนเสริมส่วนปลีกย่อยต่าง ๆ เราสามารถค่อย ๆ เรียนรู้เพิ่มเติม ต่อยอดจากการเพิ่มพูนประสบการณ์ไปได้เรื่อย ๆ ครับ ในบทความนี้เป็นการแนะนำ วิธีใช้ มิกเซอร์ดิจิตอล ตั้งแต่พื้นฐาน พร้อมกับเปรียบเทียบการใช้งานมิกเซอร์อนาล็อกไปควบคู่กัน เพื่อทำให้เห็นภาพ และเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้นครับ

วิธีใช้

การเชื่อมต่อ

ก่อนอื่น.. ขอกล่าวถึง วิธีใช้ เบื้องต้นของมิกเซอร์อนาล็อกที่เราคุ้นเคยกันดี ในขั้นตอนแรก ก็คือ การเชื่อมต่อสายสัญญาณ เราจะต้องเชื่อมต่อสายสัญญาณขาเข้าต่าง ๆ ที่ช่อง Input เช่น ไมโครโฟน หรือเครื่องดนตรี และเชื่อมต่อสายสัญญาณที่ Output สำหรับส่งไปยังอุปกรณ์โปรเซสเซอร์ต่าง ๆ และลำโพงเพื่อขยายเสียงออกไป ซึ่งมิกเซอร์อนาล็อกจะมี Main Output นั่นก็คือ L และ R มาให้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว เมื่อเราเชื่อมต่อสายสัญญาณเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมาถึงในส่วนของการปรับค่าสัญญาณต่าง ๆ  เช่น :

    • Gain : การปรับความแรงสัญญาณ
    • EQ : การปรับย่านความถี่เสียง
    • Aux Send : การส่งสัญญาณเสียงไปยังอุปกรณ์ดิจิตอลเอฟเฟคภาคนอก หรือส่งไปยังลำโพงมอนิเตอร์บนเวทีก็ได้
    • Pan : การปรับเลย์เอาต์ตำแหน่งของเสียง เช่น L (ซ้าย) , R (ขวา) และ C (ตรงกลาง) 
    • Fader : สไลด์เฟดเดอร์สำหรับควบคุมระดับความดังเสียงแต่ละแชนแนล
    • EFX : ภาคเอฟเฟคออนบอร์ด

ที่กล่าวมานี้.. คือสิ่งที่ผู้ใช้งานหลาย ๆ ท่านเคยผ่านหูผ่านตากันมาบ้างแล้วในมิกเซอร์อนาล็อก

สำหรับการเริ่มต้นใช้งาน “มิกเซอร์ดิจิตอล” ขั้นตอนแรกก็เหมือนกับมิกเซอร์อนาล็อกครับ นั่นก็คือ การเชื่อมต่อสายสัญญาณ โดยในมิกเซอร์ดิจิตอลหลาย ๆ รุ่น สามารถเชื่อมต่อสายสัญญาณที่ช่อง Input ด้านหลังเครื่องได้เลย หรือที่เรียกว่า “Local Input” แต่ในมิกเซอร์ดิจิตอลบางรุ่น เราอาจต้องเชื่อมต่อสายสัญญาณที่ Stagebox แทน แต่ก็มีมิกเซอร์ดิจิตอลอีกหลายรุ่น ที่สามารถเชื่อมต่อสายสัญญาณ Input ได้ทั้ง 2 แบบ ทั้งแบบ Local Input ผ่านหลังเครื่อง และเชื่อมต่อผ่าน Stagebox  ในจุดนี้.. ทางผู้ใช้งานจำเป็นต้องดูจากมิกเซอร์ที่เราใช้งาน ว่าสามารถเชื่อมต่อแบบใดได้บ้าง แต่โดยหลักการแล้ว.. มิกเซอร์ดิจิตอล ไม่ว่าจะเชื่อมต่อสายสัญญาณจากที่ใดก็ตาม เราก็จะสามารถปรับค่าสัญญาณ Input ต่าง ๆ ที่เข้ามาในมิกเซอร์เพื่อใช้งานได้เช่นกันครับ 

มิกเซอร์ดิจิตอล

โดยปกติทั่วไปแล้ว.. การเชื่อมต่อสายสัญญาณ XLR ไม่ว่าจะเป็นไมโครโฟน หรืออุปกรณ์เสียงอื่น ๆ เราสามารถเชื่อมต่อช่องสัญญาณ Input ได้ตามปกติ แต่ในกรณีที่มีการเปิดไฟล์เสียงต่าง ๆ จากคอมพิวเตอร์ ที่ตัวมิกเซอร์ดิจิตอล จะมีช่องสัญญาณ Stereo In ไว้ให้โดยเฉพาะ โดยใช้หัวแจ็คแบบ TS หรือแจ็คโฟนที่เราคุ้นเคยสำหรับการเชื่อมต่อ ในส่วนของภาค Output ที่จะส่งไปยังอุปกรณ์โปรเซสเซอร์ต่าง ๆ รวมถึงลำโพง PA

ในมิกเซอร์ดิจิตอลหลาย ๆ รุ่น จะไม่ได้กำหนดค่า Main Output มาตายตัว ว่าจำเป็นต้องใช้แชนแนลไหนในการส่งสัญญาณออก Main Output แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว.. จะตั้งค่ามาตรฐานจากโรงงานให้มาที่ 2 แชนแนลสุดท้ายของช่อง XLR ที่ภาค Output แต่ด้วยความที่เป็นมิกเซอร์ดิจิตอลนั้น เราจะสามารถเลือกตั้งค่าแชนแนลไหนให้เป็น Main Output ก็สามารถทำได้  ในส่วนของการมอนิเตอร์ที่เราจะส่งยังบนเวทีไป หรือการทำเป็น Ear Monitor ไปให้นักดนตรี จะนิยมใช้ Output 1 , 2 , 3 , 4 … เป็นลำดับต่อไปเรื่อย ๆ ครับ 

วิธีใช้

การปรับแต่งสัญญาณ

เมื่อเราทำการเชื่อมต่อสายสัญญาณ Input และ Output ต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ถัดมาจะอยู่ในส่วนของภาคการปรับแต่งสัญญาณ แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการปรับแต่งต่าง ๆ  ให้ผู้ใช้งานสังเกตุความแตกต่างระหว่าง “มิกเซอร์อนาล็อก” และ “มิกเซอร์ดิจิตอล” กันก่อนครับ เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า… มิกเซอร์อนาล็อกแทบจะทุกแบรนด์ เมื่อเราทำการเชื่อมต่อ Input ที่แชนแนลใดแชนแนลหนึ่งไป เราก็จะทำการปรับแต่งสัญญาณที่แชนแนลนั้น ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็น Gain , EQ และการส่งสัญญาณไปที่ Aux ต่าง ๆ ทุกอย่างเราจะปรับที่แชลแนลเดียว ก็คือแชลแนลที่ทำการเชื่อมต่อ Input เข้าไป ทำให้เราสามารถใช้งาน และเข้าใจได้ง่าย

แต่ในขณะที่มิกเซอร์ดิจิตอลนั้นจะมีความแตกต่างกันออกไป นั่นก็คือ มิกเซอร์ดิจิตอล จะใช้ Knob หรือปุ่มสำหรับหมุนปรับค่าต่าง ๆ ในแต่ละแชลแนลร่วมกันทั้งหมด ในการที่จะปรับแต่งสัญญาณเสียงที่แชนแนลใด เราจำเป็นต้องกดปุ่มเพื่อเลือกฟังก์ชั่นที่เราต้องการจะปรับค่าเสียก่อน จากนั้นที่หน้าจอของมิกเซอร์ก็จะแสดงผลบอกกับเราว่า เรากดเลือกที่แชนแนลใด เราถึงจะสามารถปรับแต่งสัญญาณต่าง ๆ ได้ เช่น Gain , EQ หรือ Pan เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการใส่ และปรับค่า High Pass Filter , Gate และ Compressor ซึ่งที่มิกเซอร์ดิจิตอลมีการเพิ่มเข้ามามากกว่ามิกเซอร์อนาล็อกอีกด้วย

มิกเซอร์ดิจิตอล

ในการที่เราต้องการจะปรับค่าแชนแนลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แชนแนลที่เลือกไว้ก่อนหน้านี้ สามารถไปกดเลือก หรือกด Select ที่แชนแนลนั้น ๆ แล้วใช้ Knob ชุดเดียวกันในการปรับค่าได้เลยครับ  มิกเซอร์ดิจิตอลแต่ละรุ่น ฟังก์ชั่นหลัก ๆ ในการทำงานนั้นจะเหมือนกันเกือบแทบจะทุกรุ่น ก็คือการที่ผู้ใช้งานต้องกดปุ่ม “Select” เลือกแชนแนลก่อน และใช้ Knob ในการปรับค่าต่าง ๆ ร่วมกันครับ

ทำอย่างไรให้มีเสียง ?

โดยเบื้องต้น.. ไม่ว่าจะเป็นมิกเซอร์ประเภทใดก็ตาม ผู้ใช้งานทุกท่านย่อมรู้ดีว่าการจะทำให้มีเสียงได้นั้น จำเป็นต้องปรับ Gain หรือความแรงสัญญาณขาเข้าก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าเป็นมิกเซอร์อนาล็อก เราสามารถหมุนเพิ่ม Gain ขึ้นไปได้ตามปกติ และจะมีขีดบอกระดับของ Gain ที่ปุ่มอย่างชัดเจน ทำให้ตัวผู้ใช้งานทราบว่าหมุน Gain ไปมากน้อยเพียงใด แต่ถ้าเป็น มิกเซอร์ดิจิตอล เราจำเป็นต้องกดเลือกแชนแนลเสียก่อน เพื่อที่จะสามารถปรับ Gain ในแชนแนลนั้น ๆ ได้

วิธีใช้

มิกเซอร์ดิจิตอลจะแตกต่างจากมิกเซอร์อนาล็อกตรงที่ การแสดงผลของค่า Gain หรือค่าใด ๆ นั้น จะไม่ได้ขึ้นแสดงที่ปุ่มปรับ แต่จะขึ้นแสดงผลอยู่ที่หน้าจอของมิกเซอร์แทน และในหน้าจอแสดงนั้นยังโชว์ค่า Gain ของแชนแนลอื่น ๆ ให้เราได้เห็นอีกด้วย ถ้าต้องการจะปรับ Gain ที่แชนแนลไหน ให้กดเลือกแชนแนล นั้น ๆ ได้เลย และสิ่งที่มิกเซอร์ดิจิตอลมีมากกว่ามิกเซอร์อนาล็อก ก็คือ ผู้ใช้งานสามารถตั้งชื่อในแต่ละแชนแนลได้ และชื่อที่ได้ตั้งไปจะแสดงผลบนหน้าจอของมิกเซอร์ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถทำงานได้ง่ายมากขึ้นด้วยครับ สิ่งที่ต้องทำในขั้นตอนต่อไปก็คือ การดัน Fader ขึ้นเพื่อเป็นการปรับระดับความดังของเสียงในแต่ละแชนแนล และที่สำคัญ ! อย่าลืมดัน Fader ที่ Main Output ขึ้นด้วยนะครับ

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

 

โปรเซสเซอร์ และการปรุงแต่งเสียง

หากว่าเป็นแชนแนลของไมโครโฟน สิ่งที่ Sound Engineer นิยมทำกัน ก็คือการใช้ “High Pass Filter” หรือในมิกเซอร์บางรุ่นอาจจะใช้คำว่า “Low Cut” ซึ่งทั้ง 2 คำนี้มีความหมาย และหลักการทำงานเดียวกันครับ การใช้ High Pass Filter ใช้เพื่อตัดเสียงย่าน Low ที่ไม่จำเป็นออกไป หรือเพื่อหลีกเลี่ยงเสียงรบกวนที่เราไม่ต้องการ ฟังก์ชั่นนี้ใน มิกเซอร์ดิจิตอล จะมีลูกเล่นมากกว่ามิกเซอร์อนาล็อกอยู่บ้าง ตรงที่ผู้ใช้งานสามารถหมุนเลื่อนเพื่อหาความถี่ที่ต้องการจะตัดทิ้งได้ เพียงแค่กดเข้าไปในส่วนของหน้าแสดงความถี่ใน High Pass Filter จากนั้นจึงหมุน Knob เพื่อปรับค่า ที่หน้าจอก็จะแสดงความถี่ และบอกรายละเอียดต่าง ๆ ว่าเราทำการปรับ High Pass Filter ไปถึงความถี่ที่เท่าไหร่แล้ว ในส่วนของ เส้นกราฟ RTA ก็จะมีผลลดลงตามที่เราได้ High Pass Filter ออกไปด้วยครับ

ขั้นตอนต่อไป ก็คือ การปรับ EQ โดยปกติในมิกเซอร์อนาล็อกทั่วไป อาจให้ EQ มาแค่ 3 หรือ 4 Band เท่านั้น เช่น เสียงทุ้ม เสียงกลาง และเสียงแหลม มีการกำหนดค่าความถี่ในแต่ละ Band มาให้ตายตัว จึงสามารถปรับแต่งได้แค่การเพิ่ม หรือลดความถี่ที่กำหนดมาให้เท่านั้น แต่ใน EQ ของ “มิกเซอร์ดิจิตอล” นั้น ผู้ใช้งานจะสามารถเลือกค่าความถี่เองได้ สามารถเลือกปรับความกว้าง หรือแคบของ EQ ได้ สามารถเลื่อนหาความถี่ที่ต้องการเองได้ เพียงแค่เรากดปุ่มเลือกย่านความถี่ที่ต้องการ ว่าต้องการปรับความถี่ที่ย่านไหน หลังจากนั้นผู้ใช้งานจะทำการเพิ่ม หรือลดย่านความถี่นั้น ๆ ของ EQ ได้เลย ซึ่งทำให้มีลูกเล่นในการปรับแต่งเสียงได้เยอะขึ้น เป็นความซับซ้อนแต่มีประโยชน์ที่เพิ่มเข้ามาในมิกเซอร์ดิจิตอลครับ

มิกเซอร์ดิจิตอล

ในส่วนของ “Gate” นั้น จะทำหน้าที่เป็นเหมือนประตู ที่คอยเปิด-ปิดสัญญาณ ที่เป็นสัญญาณรบกวนต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามาในแชนแนลได้ ยกตัวอย่าง เช่น ผู้ใช้งานไม่ต้องการให้เสียงที่เบา ๆ หรือเสียงรบกวน เข้ามาในเสียงไมโครโฟน เราสามารถใส่ Gate เอาไว้ได้ โดยการปรับค่า Threshold ที่มีหน่วยเป็น dB ถ้ามีเสียงรบกวนใด ๆ ที่มีความดังต่ำกว่าค่าที่เรากำหนด Threshold เอาไว้ Gate จะทำหน้าที่ปิดประตู เพื่อไม่ให้เสียงรบกวนนั้นเล็ดลอดเข้ามาได้ แต่ถ้ามีระดับเสียงที่มีความดังเท่ากับ หรือมากกว่าค่า Threshold ที่เรากำหนดไว้ Gate จะปล่อยให้เสียงนั้นผ่านไปได้นั่นเอง

การที่ใส่ Gate เอาไว้นั้น จะไม่ส่งผลต่อความดังของเสียงแต่อย่างใด เสียงก็จะสามารถดังได้ตามปกติ Threshold คือ ค่าที่จะกำหนดว่า เสียงที่เข้ามาต้องมีความดังระดับความดังเท่าไหร่ ถึงจะทำให้ Gate ปล่อยเสียงนั้นผ่านไปได้ หรือเสียงเบาแค่ไหนถึงจะปิดไม่ให้ผ่านเข้าไป แต่การที่จะใส่ Gate เข้าไปในแชนแนลนั้น อาจทำให้หางเสียงขาดความเป็นธรรมชาติไปบ้าง ซึ่งสามารถแก้ไขปรับค่าให้เสียงที่ออกมาฟังดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นได้ โดยการปรับค่า Attack , Hold และ Release ซึ่งเป็นค่าการปรับพื้นฐาน ที่มีมาให้ในฟังก์ชั่นของ Gate ครับ

วิธีใช้

“Compressor”  มีหน้าที่จัดการกับไดนามิกของเสียง โดยการกดระดับเสียงที่ดังลงมาได้ และทำให้เสียงที่เบาได้ยินชัดเจนขึ้น ทำให้มีไดนามิกของเสียงที่ดีขึ้น หรือก็คือการควบคุมไดนามิกของเสียงที่ไม่นิ่งให้มีความนิ่งมากยิ่งขึ้น ผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าระดับเสียงที่ต้องการกดไว้ ด้วยการปรับค่า Threshold เช่นเดียวกันกับการช้ Gate และใน Compressor ยังมีตัวช่วยในการปรับแต่งให้เสียงที่ผ่านการบีบอัดฟังดูเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น นั่นก็คือ Ratio (อัตราส่วนของการกดระดับสัญญาณ) , Attack (การหน่วงเวลาของการเริ่มต้นกดสัญญาณ) , Release (การหน่วงเวลาของการยกเลิกการกดสัญญาณ) และ Makeup Gain (การชดเชยระดับความดังของเสียง)

มิกเซอร์ดิจิตอล

“Phantom 48V” หรือเรียกกันว่า “ไฟแฟนทอม” คือ การจ่ายไฟออกไปให้อุปกรณ์ที่ต้องการไฟเลี้ยงเพื่อทำงาน ไม่ว่าจะเป็นไมค์คอนเดนเซอร์ หรือ D.I. Box แบบ Active เป็นต้น ในมิกเซอร์ดิจิตอลบางรุ่นจะมีปุ่มกด เพื่อเปิด-ปิดการใช้งาน และในมิกเซอร์ดิจิตอลบางรุ่น ก็สามารถกดที่หน้าจอ Touch Screen เพื่อเปิด-ปิดไฟแฟนทอมได้เลย 

วิธีใช้

“Pad” คือ การช่วยลดสัญญาณ Input ที่แรงเกินไป เมื่อกดใช้งานแล้วสัญญาณเสียงจะลดลง ใช้เพื่อการปรับสัญญาณ Input ให้บาลานซ์ต่อการใช้งานครับ ซึ่งมีอยู่ในมิกเซอร์ดิจิตอลทุกรุ่น แต่สำหรับในมิกเซอร์อนาล็อก จะมีมาให้แค่บางรุ่นเท่านั้น 

“Delay” เป็นฟังก์ชั่นที่ไม่ค่อยพบในมิกเซอร์อนาล็อก แต่โดยทั่วไปแล้ว.. ดีเลย์จะไม่ค่อยนิยมใช้ที่ Input เท่าไหร่ สิ่งที่ดีเลย์ส่งผลก็คือ เมื่อพูดใส่ไมโครโฟนไปแล้ว จะทำให้เสียงออกมาตามหลังนั่นเอง  

และในส่วนนี้ยังมีฟังก์ชั่นการกลับ “Phase” หรือ “Polarity” เพิ่มมาอยู่ในหน้าหลักอีกด้วย

การมอนิเตอร์ และการใช้เอฟเฟค

การจ่าย Aux ของมิกเซอร์ดิจิตอล ค่อนข้างมีความซับซ้อนกว่ามิกเซอร์อนาล็อกอยู่บ้าง แต่มีหลักการทำงานที่เหมือนกัน หลาย ๆ คนอาจมีความสับสนในชื่อเรียกที่มีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่าง เช่น ในมิกเซอร์อนาล็อก จะถูกเรียกมอนิเตอร์ช่องที่ 1 ว่า “Aux 1” แต่ในมิกเซอร์ดิจิตอลอาจจะถูกเรียกว่า “Mix 1” หรือ “Bus 1” แตกต่างกันไปตามแต่แบรนด์ของมิกเซอร์ครับ

การส่ง Aux ในขั้นตอนแรกนั้น ผู้ใช้งานจำเป็นต้องกดปุ่ม “Select” ที่ Aux 1 เสียก่อน การที่เราจะส่งแชนแนลไหนไปหามอนิเตอร์ที่ 1จะสามารถทำได้โดยการดัน Fader ขึ้น ในหน้าของการปรับระดับเสียงของมอนิเตอร์ ไม่ว่าผู้ใช้งานจะดัน Fader ขึ้นหรือลงอย่างไร ก็จะไม่ส่งผลต่อระดับเสียงของ Main Output แต่อย่างใด จะเป็นแค่การควบคุมระดับความดัง หรือระดับสัญญาณที่จ่ายไปให้เฉพาะแชนแนลมอนิเตอร์เท่านั้น และอย่าลืมดัน Master Fader ของมอนิเตอร์ขึ้นด้วยนะครับ

และนอกจากนี้… ความแตกต่างระหว่าง “มิกเซอร์ดิจิตอล” และ มิกเซอร์อนาล็อก” ก็คือ ในมิกเซอร์อนาล็อก จะมีจำนวนช่องสัญญาณกี่แชนแนล ตัวมิกเซอร์เองก็จะมีจำนวน Fader เท่านั้น แต่ในมิกเซอร์ดิจิตอล บางครั้ง Fader มีจำนวนแค่ 16 Fader แต่สามารถรองรับจำนวนแชนแนลได้มากถึง 48 แชนแนล และจะมีในเรื่องของ Layer เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพื่อทำให้ผู้ใช้งานสามารถกดเลือกเปลี่ยนหน้าแชนแนลได้ ยกตัวอย่าง เช่น Layer A เป็น Input 1-16 เมื่อกดเลือก Layer B ก็จะเป็นช่องสัญญาณ Input แชนแนลที่ 17-32 , Layer C เป็น Input ที่ 33-40 พร้อมทั้งมีช่อง Stereo In และ USB ร่วมด้วย รวมทั้งสิ้นเป็น 48 แชนแนล โดยแชนแนลที่กล่าวมาทั้งหมดใช้ Fader เพียงแค่ 16 Fader เท่านั้น

ในส่วนของการใช้เอฟเฟค ถ้าเป็นที่มิกเซอร์อนาล็อก การจ่ายเอฟเฟคจะใช้วิธีการหมุน Knob ที่แชนแนลเพื่อใส่เอฟเฟคได้เลย แต่หากเป็นมิกเซอร์ดิจิตอล เราจะต้องกดปุ่ม “Select” ไปที่เอฟเฟคเสียก่อน ถึงจะสามารถสไลด์ Fader ขึ้นที่แชนแนลที่เราต้องการใส่เอฟเฟคเข้าไปได้ เปรียบเหมือนกับการหมุน Knob ที่แชนแนลของมิกเซอร์อนาล็อกครับ และที่สำคัญ ! จำเป็นต้องสไลด์ Fader ของ Effect Master และ Effect Return ขึ้นด้วย ซึ่งการส่ง Effect นี้ จะต้องมีการควบคุมถึง 3 จุด เช่นเดียวกับมิกเซอร์อนาล็อก เพียงแต่มิกเซอร์ดิจิตอลจะมีการเปลี่ยนหน้าไปมา ซึ่งอาจจะสร้างความสับสนเล็กน้อยต่อผู้เริ่มต้นใช้งานมิกเซอร์ดิจิตอลที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน (หากมีความไม่เข้าใจ สามารถดูคลิปวีดีโอประกอบได้ที่ท้ายบทความ)

เพียงเท่าที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้ ผู้ใช้งานก็จะสามารถใช้มิกเซอร์ดิจิตอลตั้งแต่ขั้นพื้นฐานได้ครบทุกฟังก์ชั่นแล้วครับ 

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

อีกหนึ่งสิ่งที่มิกเซอร์ดิจิตอลมีมาให้มากกว่า ก็คือ การปรับแต่งเอฟเฟคที่สามารถลงรายละเอียดได้มากขึ้น  เอฟเฟคในมิกเซอร์ดิจิตอลนั้น จะสามารถใส่เอฟเฟคที่มีมาให้ได้ถึง 4 ตัว การเข้าไปปรับแต่งเอฟเฟคนั้น เริ่มจากการกดไปที่หน้า Main FX ที่หน้าจอแสดงผลจะขึ้นแสดงเอฟเฟคทั้ง 4 ตัว โดยจะมีค่าจากโรงงานมาให้ ผู้ใช้งานสามารถเลือกให้ชนิดของเอฟเฟคที่แตกต่างกันออกไปได้ และสามารถปรับแต่งเฉพาะของตัวเอฟเฟคได้อีกด้วย 

ส่วนในโหมดของ Library หรือ Free Preset ถ้าในเรื่องของการปรับแต่ง EQ  นั้น ถือว่าเป็นลูกเล่นสำหรับมือใหม่ได้ดีเลยทีเดียว ผู้ใช้งานสามารถเลือก Preset ของเครื่องดนตรีที่เราต้องการจะใช้งาน นำมาใส่ในแชนแนลที่ต้องการได้ ยกตัวอย่าง เช่น แชนแนลที่ 1 เราต้องการจะใช้งานเป็นไมโครโฟนของกระเดื่อง ผู้ใช้งานสามารถกดไปที่เมนู Library ที่หน้าจอแสดงผลจะมี Preset มาให้เลือก จากนั้นกดเลือก “Kick Drum”  และกด “Recall” หลังจากนั้น.. ในแชนแนลที่เราต้องการ จะปรับเป็นค่า EQ พื้นฐานสำหรับ Kick Drum ให้ทันที ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อเป็นแนวทางในการปรับค่าได้ และยังมีในส่วนของ Effect ที่มี Library ต่าง ๆ มาให้อีกด้วย ถ้าตัวผู้ใช้เอง ยังไม่มีประสบการณ์ในการปรับแต่ง ก็สามารถเลือก Preset ต่าง ๆ ที่มีมาให้ เพื่อนำมาเป็นแนวทางได้ดีเลยทีเดียวครับ

สำหรับการบันทึกซีน หรือ Save Scene คือจุดเด่นหลัก ๆ อีกข้อหนึ่งของมิกเซอร์ดิจิตอลเลยก็ว่าได้ เป็นตัวช่วยให้การทำงาน ที่สามารถช่วยลดปัญหาความวุ่นวายต่าง ๆ เช่น ต้องมีวงดนตรีหลาย ๆ วง หรือการแสดงหลาย ๆ การแสดงที่ต้องปรับแต่งต่าง ๆ ซ้ำไปซ้ำมา การบันทึกซีนจึงสามารถช่วยให้ทำงานได้ง่ายมากขึ้น โดยการกดไปที่เมนู Scene เลื่อน Knob หา Slot ที่ว่าง จากนั้นกด Store แล้วตั้งชื่อ Scene ที่ต้องการ และกด Yes เพียงเท่านี้เราก็สามารถบันทึกซีนที่ทำการปรับแต่งเรียบร้อย เพื่อนำการปรับแต่งนั้นกลับมาใช้ใหม่ได้แล้วครับ

การปรับแต่ง EQ เฉพาะที่ภาค Output หากสังเกตุดู ในมิกเซอร์อนาล็อกส่วนใหญ่จะไม่มี EQ สำหรับภาค Output มาให้ หรือถ้าบางรุ่นอาจมีมาให้ ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้งานจริง แต่ในมิกเซอร์ดิจิตอลนั้น ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่ง EQ เฉพาะที่ภาค Output ได้เลย ยกตัวอย่าง เช่น ใน Main Output ให้กดเข้าไปที่เมนู LR จะสามารถปรับแต่ง EQ ได้ทั้งแบบ Parametric EQ หรือแบบ Graphic EQ โดยที่เราสามารถใช้ลูกเล่น Fader Flip ได้อีกด้วย โดยการกดไปที่ปุ่ม “Fader Flip” จะทำให้ Fader ในแชนแนลของเราสามารถใช้เป็นก้านในการปรับ EQ ได้ครับ

สรุป

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเป็นการทำให้ผู้ใช้งานมิกเซอร์ดิจิตอลมือใหม่สามารถใช้งานมิกเซอร์ดิจิตอลได้คล่อง เหมือนกับการที่เคยใช้งานมิกเซอร์อนาล็อกมาแล้ว แถมยังมีหลาย ๆ ฟังก์ชั่น หลาย ๆ ลูกเล่นที่มีมาให้ใช้งานมากกว่าอีกด้วย สำหรับมิกเซอร์ดิจิตอลนั้น ถึงจะดูมีความยาก มีความสลับซับซ้อน แต่ไม่มีอะไรต้องกังวลครับ หากผู้ใช้งานมีความเข้าใจในพื้นฐานอย่างถูกต้อง ส่วนในเรื่องที่มีความซับซ้อนมากกว่านี้ อาจจะเป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่าง มิกเซอร์ดิจิตอลแต่ละรุ่น ว่าแต่ละตัวมีวิธีการ Routing I/O หรือการเชื่อมต่อ Stagebox กันอย่างไร ซึ่งในส่วนนี้เป็นความเฉพาะเจาะจงของแต่ละรุ่นครับ

Video | วิธีใช้ !! มิกเซอร์ดิจิตอล ตั้งแต่พื้นฐาน แบบคลิปเดียวจบ !

หากท่านมีความสนใจ หรือต้องการติดต่อสอบถามข้อมูล เกี่ยวกับสินค้า หรืองานติดตั้งระบบเสียงต่าง ๆ กับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ท่านสามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ :

  • Tel. : 098-785-5549
  • Facebook : AT prosound-shop
  • Line : @atprosound
  • E-mail : [email protected]

เวลาทำการ

Monday 9:00 – 18:00
Tuesday 9:00 – 18:00
Wednesday 9:00 – 18:00
Thursday 9:00 – 18:00
Friday 9:00 – 18:00
Saturday 10:00 – 19:00
Sunday Closed

AT Prosound ยินดีให้บริการครับ

 

ติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook AT Prosound

เนื้อหาบทความโดย : ศิวะพจน์ เกียรติพิริยะ 

เรียบเรียงบทความโดย : ณัฐพจน์ วิจารัตน์


สินค้าแนะนำตามความสนใจ

สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿79.00฿7,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿55.00฿5,500.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
฿135.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿44.00฿3,600.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
฿145.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿93.00฿7,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿34.00฿2,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿71.00฿6,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)

บทความที่คุณอาจชอบ ในหมวดหมู่เดียวกัน

ใส่ความเห็น