คู่มือ !! ระบบไมค์ห้องประชุม (Conference Microphone Systems)

ระบบไมค์ห้องประชุม (Conference Microphone Systems)

ไมค์ประชุม (Conference Microphone) คือ ไมโครโฟนที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ สำหรับการสื่อสารกันในที่ประชุม โดยหลัก ๆ แล้วจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ไมค์ประชุมแบบทั่วไปที่ใช้สายสำหรับการส่งสัญญาณ และอีกแบบก็คือไมค์ประชุมแบบไร้สาย ซึ่งใช้เทคโนโลยีคลื่นวิทยุ FM , Wi-Fi หรือ IR (Infrared) เพื่อสื่อสารกันระหว่างไมโครโฟน โดยการใช้งานของไมโครโฟนสำหรับการประชุมที่เราพบเห็นกันทั่วไป มีดังต่อไปนี้ครับ : 

    • ห้องประชุม
    • การสนทนากลุ่ม
    • หอประชุมสถานศึกษา
    • ห้องสัมมนา
    • ห้องเรียน
    • รัฐสภา
    • ฯลฯ

ระบบไมค์ห้องประชุม เป็นอุปกรณ์เสียงประเภทหนึ่งที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ยินซึ่งกันและกัน ในระบบเซ็ตอัพไมค์ห้องประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละคนจะมีชุดไมโครโฟนประจำตัว ซึ่งช่วยให้พวกเขาพูดคุยร่วมกับคนอื่นได้อย่างสะดวก และลดความยุ่งยากวุ่นวายที่ไม่จำเป็นออกไปครับ

ไมค์ประชุม

ทำไมต้องใช้ Conference Microphone สำหรับการประชุม

  • Accessibility (การเข้าถึง)

ช่วยให้กลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมในวงกว้างสามารถมีส่วนร่วมในการประชุมได้ง่ายขึ้น และช่วยให้ผู้ฟังจำนวนมากสามารถติดตามเนื้อหาของการประชุมได้อย่างต่อเนื่อง และทั่วถึงตลอดทั้งกระบวนการประชุมได้ 

  • Meeting Flow (ประหยัดเวลา ความต่อเนื่อง และความราบรื่นของการประชุม)

ลองจินตนาการดูครับว่า การประชุมที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมหลาย ๆ คน เช่น 10 คน หรือ 20 คน การส่งไมโครโฟนเปลี่ยนกันไปมาคงเป็นอะไรที่เสียเวลา และวุ่นวายใช่ไหมครับ อีกทั้งยังทำให้เนื้อหาของการประชุมขาดความต่อเนื่องอีกด้วย การที่ผู้ประชุมแต่ละคนมีชุดไมโครโฟนประจำตัว วิธีนี้ก็จะช่วยประหยัดเวลาในส่วนที่ไม่จำเป็นที่ต้องเสียไป กับการส่งไมโครโฟนให้กันระหว่างผู้พูด นอกจากนี้ประธานการประชุมยังสามารถควบคุมการเปิด-ปิดเสียง และระดับความดังเสียงของไมโครโฟน อีกทั้งยังมีชุดไมค์ห้องประชุมหลาย ๆ โมเดลที่มีฟังก์ชั่นการลงคะแนนเสียงอีกด้วย

  • Language Interpretation (การแปลภาษา)

ในการประชุมหลากหลายภาษา ยกตัวอย่าง เช่น การประชุมองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบบไมโครโฟนสำหรับการประชุมในลักษณะนี้ มักจะมีระบบที่รองรับการแปลภาษา โดยจะส่ง Floor Language ให้กับล่ามได้โดยตรง เพื่อให้ล่ามมีสัญญาณเสียงที่ชัดเจนเพียงพอสำหรับการแปลนั่นเอง ยกตัวอย่าง เช่น ชุดไมค์ประชุมของ DIS (Shure) DDS5900 Series และ DCS 6000 Series เป็นต้น

  • Aesthetics (ภาพลักษณ์ ความเป็นมืออาชีพ และทางการ)

ด้วยดีไซน์ของไมค์ห้องประชุม ที่บ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพ แสดงถึงความเคารพต่อผู้เข้าร่วมประชุม และการให้ผู้เข้าร่วมมีชุดไมโครโฟนประจำตัว ยังแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียม และการให้คุณค่าของเสียงผู้ร่วมประชุมแต่ละคนอีกด้วย นอกจากนี้ยังทำให้การประชุมมีความเป็นทางการมากขึ้น

Conference Room XIX, United Nations
Geneva, Switzerland

สิ่งที่สำคัญสำหรับ ระบบ “ไมค์ประชุม”

  • Chairman / Chairman Unit (ไมค์ประธาน)

Chairman หรือ Chairman Unit หมายถึง ไมค์ประธาน จะเป็นไมค์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ ยกตัวอย่าง เช่น สามารถควบคุมการเปิด-ปิดเสียงไมค์ตัวอื่น ๆ ของผู้พูด แจ้งเตือนเวลาการพูด และจัดระเบียบการลงคะแนน เพื่อกำหนดทิศทางการสนทนา เป็นต้น

 

ไมค์ประชุม

AKG CS3CU 30
Chairman Unit

  • Delegate / Delegate Unit (ไมค์ผู้แทน , ไมค์ผู้ร่วมประชุม)

Delegate หรือ Delegate Unit หมายถึง ไมค์ผู้แทน ไมค์ผู้ร่วมประชุมคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประธาน ผู้รับมอบสิทธิ์แต่ละคนที่มีชุดไมโครโฟนประจำตัว โดยที่ไมโครโฟนเหล่านี้มักจะมีปุ่มกดเพื่อพูด ปุ่มควบคุมระดับเสียง และการเชื่อมต่อสำหรับอุปกรณ์ลงคะแนน

ไมค์ประชุม

AKG CS3CU 30
Delegate Unit

  • Central Control Unit (CCU) หน่วยควบคุมกลาง

หน่วยควบคุมกลาง คือ อุปกรณ์ส่วนกลางที่ควบคุม รวมถึงการจ่ายไฟให้กับชุดไมโครโฟนแต่ละตัว (ในกรณีที่ใช้ไมค์สาย) นอกจากนี้ยังรวมฟีดไมค์ แจกจ่ายฟีดภาษา และรองรับฟังก์ชั่นการลงคะแนน โดยหน่วยควบคุมกลางบางรุ่นยังมีความสามารถการบันทึกเสียงได้ในตัวอีกด้วย

DIS-CCU
Central Control Unit

  • Floor Language (ภาษาหลัก)

Floor Language หมายถึง ภาษาหลักที่ผู้เข้าร่วมประชุมใช้ในการสนทนา

  • Target Languages (ภาษาเป้าหมาย)

ในกรณีการประชุมหลากหลายภาษา ภาษาเป้าหมาย หมายถึง ภาษาที่ผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละคนจะได้ยิน หรือเรียกอีกอย่างว่า “ฟีดการแปลภาษา” เมื่อมีผู้เข้าร่วมประชุม หรือผู้ชมการประชุมนั้น… มีความหลากหลายทางภาษามากพอที่จะต้องการภาษาเป้าหมายมากกว่า 1 ภาษา ฟีดการแปลภาษาก็สามารถรองรับการแปลได้หลายภาษาโดยใช้ระบบเดียวกัน

  • Simultaneous Interpretation (การแปลในเวลาเดียวกัน)

ประเภทของการแปลที่ล่ามฟังจาก Floor Language ผ่านหูฟัง เป็นการแปลเป็นภาษาเป้าหมายแบบเรียลไทม์ เรียกได้ว่าเป็นงานที่ยากสำหรับผู้เป็นล่ามพอสมควร ผู้เป็นล่ามต้องฟังอย่างตั้งใจ และแปลออกมาเป็นภาษาเป้าหมายใด ๆ ก็ตามให้มีความถูกต้องของเนื้อความมากที่สุด

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

 

ปัจจัยที่ควรพิจารณาเมื่อซื้อ ระบบไมค์ห้องประชุม

  • ใช้งานง่าย

ระบบไมค์ห้องประชุม มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประชุม ดังนั้นอุปกรณ์เหล่านี้จะต้องง่ายสำหรับผู้เข้าร่วมประชุม และไม่ซับซ้อน ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใช้จะต้องเข้าใจระบบการควบคุมได้อย่างง่ายดาย

  • จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมสูงสุด

ต้องทราบจำนวนการรองรับผู้เข้าร่วมประชุมสูงสุด เพื่อที่จะเลือกจำนวน Delegate Unit ไมโครโฟนให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ร่วมประชุม ซึ่ง CCU หรือหน่วยควบคุมกลางหลาย ๆ รุ่นสามารถรองรับชุดไมค์ผู้ร่วมประชุมได้หลายสิบ ถึงหลายร้อยชุด ดังนั้นในกรณีที่เป็นการประชุมกลุ่มใหญ่มาก ๆ จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมอาจส่งผลต่อจำนวนชุดหน่วยควบคุมกลางที่ต้องการ

  • คุณภาพเสียง และคุณภาพสัญญาณ

ระบบไมค์ห้องประชุมในโมเดลเก่า ๆ ค่อนข้างที่จะเป็นอุปกรณ์อนาล็อก แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีระบบไมค์ห้องประชุม ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นระบบดิจิตอลมากขึ้น เพื่อคุณภาพเสียง และคุณภาพสัญญาณที่ดีขึ้น น้ำหนักเบาเคลื่อนย้ายง่าย การประมวลผล การบันทึกเสียง และตัวเลือกฟังก์ชั่นอื่น ๆ ที่มากขึ้น

  • สถานที่

สถานที่หรือลักษณะของห้องประชุม จะเป็นตัวกำหนดว่าระบบไมค์ประชุมที่ควรใช้ ควรจะเป็นแบบมีสายหรือไร้สาย หากคุณใช้ชุดไมค์ประชุมที่เป็นระบบ Infrared สิ่งที่สำคัญก็คือรัศมี และระยะห่างระหว่างเครื่องรับกับเครื่องส่ง เนื่องจากสัญญาณ Infrared ไม่สามารถทะลุผ่านกำแพงได้ ดังนั้นสถานที่หรือลักษณะของห้องประชุมจึงมีบทบาทสำคัญมาก ในการเลือกระบบไมค์ห้องประชุมที่ควรจะใช้

  • คุณสมบัติพิเศษ

คุณสมบัติพิเศษของระบบไมค์ห้องประชุมที่ควรจะพิจารณา โดยหลัก ๆ แล้วมีดังต่อไปนี้ :

    • ฟังก์ชั่นการลงคะแนนโหวต ยกตัวอย่าง เช่น การประชุมรัฐสภา เป็นต้น 
    • ฟังก์ชั่นการบันทึกแบบดิจิตอล ไมค์ประชุม บางตัวจะมีการ Built-in Digital recording ในตัว เพื่อสามารถที่จะเก็บเนื้อหาการประชุมไว้เพื่อตรวจสอบ และดำเนินการด้านอื่น ๆ รวมถึงการนำไปเผยแพร่ภายหลัง
    • รองรับฟังก์ชั่น Video Conference บางระบบ Conference ถูกออกแบบให้รองรับกับกล้องสำหรับการประชุมทางวิดีโอ ตัวเลือกนี้คุณอาจจะควรเก็บไว้เผื่อพิจารณาเป็นทางเลือก หรือก็อาจจะขึ้นอยู่กับการใช้งานจริงในการประชุมของคุณ

Tenveo VA3000E

มีสาย หรือ ไร้สาย ?

หากคุณกำลังคิดว่า.. ระบบไมค์ห้องประชุมของคุณ ควรใช้ระบบสาย หรือไร้สายดี ? มีสาย ไร้สาย มีข้อแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน หัวข้อต่อไปนี้มีคำตอบครับ

  • Wired Conference Mic Systems (ระบบสาย)

MiCWL 16

ข้อดี ข้อเสีย

ไมค์ประชุม แบบใช้สายเพื่อส่งสัญญาณสำหรับดำเนินการสื่อสาร ข้อดีของระบบนี้ก็คือ โดยทั่วไปแล้วอุปกรณ์จะมีราคาที่ถูกกว่า มีความสเถียรมากกว่า ดังนั้นผู้ใช้จึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับปัญญาหาคลื่นแทรก หรืออายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ในส่วนของข้อเสียก็คือ หากจำเป็นต้องใช้ในระยะที่ไกลมาก ก็อาจจะทำให้มีข้อจำกัดในการเดินสายสัญญาณ สายพันรุงรัง ยุ่งเหยิง หรืออาจจะมี Noise ที่มาตามความยาวของสายสัญญาณนั่นเอง

ข้อมูลทางเทคนิค

  1. ใช้สาย LAN สำหรับเชื่อมต่อระบบเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น CAT5 หรือ CAT6 ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละโมเดล และต้องหุ้มสายเพื่อป้องกันสัญญาณรบกวน
  2. ความยาวสูงสุดของสายที่ควรใช้ สำหรับเชื่อมต่อระหว่างระบบไมโครโฟน เพื่อคงคุณภาพของสัญญาณไว้ให้ได้มากที่สุด แนะนำไม่ควรเกินที่ 260 ft.
  3. ระบบนี้ประกอบไปด้วยภาค Input และ Output แบบ Multiple สำหรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ระบบการประชุมทางไกล
  4. Save ไฟล์การบันทึกเสียงในระดับคุณภาพ และรูปแบบที่หลากหลาย เช่น .wav หรือ .mp3 ที่ความละเอียด 64 , 128 และ 192Kbps

 

  • Wireless Conference Mic Systems (ระบบไร้สาย)

MICROTECH MT888D

ข้อดี ข้อเสีย

ไมค์ประชุม แบบไร้สาย เป็น Conference Microphone ที่ใช้คลื่นวิทยุ FM , Wi-Fi หรือ Infrared เพื่อสื่อสารระหว่างไมโครโฟน ข้อดีของระบบไร้สายก็คือ อิสระในการวางระบบ และหลีกเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดจากสายสัญญาณนั่นเอง ยกตัวอย่าง เช่น หากสายสัญญาณเกิดการชำรุด หรืออาการไฟรั่ว ไฟตก ไฟเกินที่ไหลผ่านตามสายสัญญาณ ก็อาจจะส่งผลเสียต่ออุปกรณ์ ในส่วนของข้อเสียก็คือ อาจจะมีข้อกำหนดในเรื่องของระยะห่างระหว่างไมโครโฟน กับหน่วยควบคุมกลาง (CCU) และอาจมีคลื่นวิทยุแทรกบ้างเล็กน้อย แต่ในปัจจุบันก็มีหลาย ๆ โมเดลก็สามารถเปลี่ยนแชแนลสัญญาณได้ และมีความคุ้มค่ากับการลงทุนมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลทางเทคนิค

  1. แบตเตอรี่ Li-Ion สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องนานกว่า 28 ชั่วโมง เมื่อชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม โดยใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 90 นาที พร้อมไฟสถานะการชาร์จแบบ LED
  2. ระบบไมค์ห้องประชุมแบบไร้สาย ได้มีการพัฒนาจากการใช้เพียงแต่คลื่นวิทยุ UHF มาเป็นการส่งสัญญาณด้วย Wi-Fi โดยมีทั้งแบบ 2.4GHz และ 5GHz ที่สามารถสแกนหาความถี่ที่อยู่ใกล้เคียงได้โดยอัตโนมัติ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สัญญาณทับซ้อน และรบกวนกันได้

สรุป

ระบบ Conference ที่มีการสื่อสารที่ดีนั้น จะช่วยสร้างความเข้าใจ เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากร และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อองค์กรในทางบวก ดังนั้นการมีระบบไมค์ห้องประชุมที่ดีก็ส่งผลทางบวกให้กับการประชุม เพื่อการดำเนินทิศทางขององค์กรตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม.. เพื่อให้ได้ระบบที่ถูกต้อง คุ้มค่าการลงทุน และได้ผลลัพธ์ที่ดี ท่านสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อ หรือติดต่องานติดตั้งได้ที่ AT Prosound 

 

ติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook AT Prosound

บทความโดย : ณัฐพจน์ วิจารัตน์


สินค้าแนะนำตามความสนใจ

สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿79.00฿7,900.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿55.00฿5,500.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
฿135.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿44.00฿3,500.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
฿145.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿93.00฿7,400.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿34.00฿2,700.00 (รวม VAT 7% แล้ว)
สินค้าสั่งจอง
สินค้าสั่งจองล่วงหน้า
฿71.00฿5,700.00 (รวม VAT 7% แล้ว)

บทความที่คุณอาจชอบ ในหมวดหมู่เดียวกัน

ใส่ความเห็น