Audio Cables & Connection
สายสัญญาณ และการเชื่อมต่อในระบบเสียง | ด้วยประเภทของสายสัญญาณต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปที่จะฟันธงว่า “สายสัญญาณประเภทใด คือ สายสัญญาณ ที่ดีที่สุด” เนื่องจากว่ายังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึงอีกด้วย โดยหลัก ๆ แล้วยกตัวอย่าง เช่น ความยาวของสาย และอุปกรณ์ที่รองรับ เป็นต้น ดังนั้นในบทความนี้ เราจะมาว่ากันด้วยเรื่อง “สายสัญญาณ” และ “การเชื่อมต่อ” ในระบบเสียงกันครับ เพื่อเป็นการเพิ่มความเข้าใจ และการนำไปใช้ให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด เมื่อพร้อมแล้ว.. เรามาติดตามไปพร้อม ๆ กันได้ในบทความนี้ครับ
Balanced & Unbalanced
ก่อนที่เราจะเจาะลึกลงไปถึงรายละเอียด ของสายสัญญาณประเภทต่าง ๆ ยังมีประเด็นที่สำคัญอยู่อีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ “รูปแบบสัญญาณ” ของสายแต่ละประเภท ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้ครับ :
-
สายสัญญาณ Balanced
สายสัญญาณ Balanced ได้รับการออกแบบมา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการรบกวนทางไฟฟ้าภายนอกโดยเฉพาะ ข้างในประกอบไปด้วย สายสัญญาณ 3 เส้น ได้แก่ Ground (Shield) , สัญญาณขั้ว บวก (Hot) และ สัญญาณขั้ว ลบ (Cold)
-
- Ground เป็นสาย Shield ที่พันล้อมรอบสายสัญญาณ เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า
- สายสัญญาณขั้ว บวก เป็นสายสัญญาณที่ใช้ส่งสัญญาณ
- สายสัญญาณขั้ว ลบ เป็นสายสัญญาณที่ใช้ส่งสัญญาณเช่นเดียวกัน แต่เป็นการส่งสัญญาณแบบ “กลับเฟส” 180 องศา (Reverse Phase)
ซึ่งหลักการทำงานของสาย Balanced ก็คือ เมื่อส่งสัญญาณผ่านสายสัญญาณ Balance จะทำให้ Noise หรือเสียงรบกวนจากภายนอกกลับเฟสกัน และเกิดการหักล้างกัน จนเหลือแต่สัญญาณที่ป้อนไป ซึ่งเมื่อสัญญาณถูกส่งไปถึงปลายทาง อุปกรณ์ที่รับสัญญาณก็จะทำการกลับเฟสคืน ผลที่ได้ก็คือ สัญญาณที่ส่งไปหลังจากการกลับเฟสคืนนั้น สัญญาณจะเข้ม และชัดเจนขึ้นเป็น 2 เท่า อธิบายด้วยสมการไฟฟ้าได้ดังนี้ :
-
สายสัญญาณ Unbalanced
สายสัญญาณ Unbalanced จะมีเพียงสายสัญญาณขั้ว บวก (Hot) และสาย Ground (Shield) เพียงเส้นเดียวเท่านั้น
-
- Ground เป็นสาย Shield ที่พันล้อมรอบสายสัญญาณ เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า
- สายสัญญาณขั้ว บวก เป็นสายสัญญาณที่ใช้ส่งสัญญาณ
หลักการทำงานของสายสัญญาณแบบ Unbalanced จะไม่ได้ซับซ้อนแบบ Balanced ก็คือ สายสัญญาณขั้ว บวก เป็นสายสัญญาณที่ใช้ส่งสัญญาณ โดยไม่ผ่านการกลับเฟสใด ๆ ทั้งสิ้น และจะมีเพียงสาย Ground ที่เป็นสาย Shield เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวนเท่านั้น ซึ่งข้อจำกัดของสายสัญญาณแบบ Unbalanced ก็คือ ความยาวของสาย ถ้าหากสายยิ่งยาว Noise ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
โดยทั่วไปที่เราสามารถพบเห็นกันได้บ่อย ๆ สายสัญญาณที่ถูกใช้บ่อย ๆ ตามบ้าน และในกลุ่มผู้ใช้งานระดับ Consumer ส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นสายสัญญาณแบบ Unbalanced ซึ่งรวมถึงการใช้กับเครื่องดนตรีด้วย ยกตัวอย่าง เช่น กีตาร์ไฟฟ้า และเบส เป็นต้น แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้กับงานเครื่องเสียงระดับมืออาชีพ สายสัญญาณแบบ Balanced จึงเข้ามามีบทบาทอย่างมาก เช่น การใช้เป็นสายสัญญาณ เพื่อคุณภาพของสัญญาณเสียงที่ดีนั่นเองครับ
ประเภทสายสัญญาณ
เมื่อมีความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างสายสัญญาณแบบ Balanced และ Unbalanced แล้ว เรามาดูกันต่อครับ ว่าสายสัญญาณประเภทต่าง ๆ ในระบบเสียงมีประเภทใดบ้าง
-
TS
สาย TS หรือย่อมาจาก Tip / Sleeve ที่มักเรียกกันว่า “สายกีต้าร์” หรือ “สายเครื่องดนตรี” สายสัญญาณ Unbalanced ประเภทหนึ่ง ที่มีการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงแบบ Mono (1 ช่องสัญญาณ) ที่ไม่ควรใช้ขนาดความยาวมาก ๆ ควรต้องให้สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะอย่างที่ผมได้กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้านี้ว่า ความยาวของสาย ถ้าหากสายยิ่งยาว Noise ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยสาย TS จะมีลักษณะเป็นแจ็คขนาด 1/4″ (ุ6.3mm)
-
TRS
แม้ว่าดูด้วยสายตา สาย TRS อาจจะดูคล้ายกับสาย TS แต่จะสามารถสังเกตเห็นได้ถึงความแตกต่างได้ เนื่องจากมีขีดสีดำ 2 ขีดที่ส่วนหัวแจ็ค สาย TRS หรือย่อมาจาก Tip / Ring / Sleeve เป็นสายสัญญาณแบบ Balanced โดยมีสายสัญญาณขั้ว บวก , ลบ และกราวด์เป็นองค์ประกอบ สาย TRS เพียงเส้นเดียว ยังสามารถใช้เชื่อมต่อสัญญาณแบบ Mono (1 ช่องสัญญาณ) หรือ Stereo (2 ช่องสัญญาณ) ก็ได้ ที่เราพบเห็นกันได้บ่อย ๆ ในระบบเสียงมืออาชีพ อีกทั้งยังมีแบบขนาด 3.5mm สำหรับสายหูฟัง Headphone อีกด้วย แต่จะเป็นแบบสัญญาณ Unbalanced ครับ เนื่องจากว่า TRS (3.5mm) จะประกอบไปด้วยสายสัญญาณขั้ว บวก 2 ขั้ว และสายกราวด์เท่านั้น แต่ก็ยังสามารถส่งสัญญาณได้แบบ Stereo ครับ
-
XLR
สาย XLR สายสัญญาณแบบ Balanced หนึ่งในประเภทสายสัญญาณที่มีเอกลักษณ์ และมีความทนทานที่สุด นั่นหมายความว่าคุณสามารถใช้สาย XLR ที่มีความยาวมาก โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดการสูญเสียคุณภาพของสัญญาณเสียง หรือการถูกแทรกด้วยสัญญาณรบกวนเช่นเดียวกัน และเรามักจะเห็นการใช้สาย XLR อยู่ในอุปกรณ์เสียงหลายประเภท โดยเฉพาะไมโครโฟน , ลำโพง , มิกเซอร์ และอุปกรณ์ระบบเสียง PA ต่าง ๆ เป็นต้น เหตุผลที่อุปกรณ์เครื่องเสียงเหล่านี้ ใช้การเชื่อมต่อด้วยสาย XLR นั่นก็เพราะว่า เพื่อรับประกันสัญญาณเสียงที่คมชัด และมีความเสถียร ไม่ว่าจะใช้ความยาวสายขนาดเพียง 6 ฟุต หรือยาวกว่า 50 ฟุตก็ตาม
-
Speakon
สาย Speakon เป็นสายสัญญาณแบบ Unbalanced ที่เราไม่ค่อยเห็นกันตามบ้าน หรือเครื่องเสียงระดับ Consumer แต่มักจะพบเห็นลักษณะการใช้เป็นสายเชื่อมต่อระหว่าง เพาเวอร์แอมป์ เข้ากับลำโพงในวงการคนทำระบบเสียงมืออาชีพ ด้วยความที่สาย Speakon จะเป็นสัญญาณแบบ Unbalanced มันจึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับใช้ทดแทนสาย TS (เฉพาะอุปกรณ์ระบบเสียงที่มี Input สำหรับสาย Speakon) เนื่องจากว่าสาย Speakon ได้รับการออกแบบมาให้ใช้กับระบบเสียงที่มีกระแสไฟสูงได้ และสามารถล็อกกับช่อง Input ได้
-
Banana
สายแบบหัว Banana เป็นสายสัญญาณแบบ Unbalanced ประเภทหนึ่งที่มีต้นกำเนิดจากประเทศฝั่งยุโรป นิยมใช้กันตามเครื่องเสียงภายในบ้าน เชื่อมต่อระหว่างเพาเวอร์แอมป์ เข้ากับลำโพง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์ แม้ว่าดูจากภายนอกแล้วจะมีความคล้ายคลึงกับสาย RCA ก็ตาม แต่สายแจ็คแบบหัว Banana ก็มีโครงสร้างที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และได้รับการออกแบบมาทำให้การเชื่อมต่อมีความเรียบร้อย ลดความยุ่งเหยิง และปลอดภัยยิ่งขึ้น
-
RCA
สาย RCA เป็นสายสัญญาณแบบ Unbalanced อีกประเภทหนึ่ง ที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อย ๆ ในระบบเสียง A/V ภายในบ้าน นอกจากนี้ก็ยังพบเห็นได้ในเครื่อง DJ Controller และด้วยความที่สาย RCA เป็นสายสัญญาณแบบ Unbalanced ดังนั้นแล้วจึงไม่แนะนำให้ใช้สายที่มีความยาวมากจนเกินไปครับ
-
S/PDIF
S/PDIF หรือย่อมาจาก Sony / Phillips Digital Interface เป็นการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงแบบดิจิตอล (ในระยะไม่เกิน 10 เมตร) โดยการส่งสัญญาณของ S/PDIF จะมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน นั่นก็คือ แบบ Coaxial (RCA) ส่งสัญญาณในรูปแบบไฟฟ้าผ่านสายสัญญาณ และแบบ Optical (Toslink) ที่ส่งสัญญาณผ่านสายใยแก้วนำแสง ซึ่ง S/PDIF มักพบเห็นได้ในระบบเสียง A/V ตามบ้านระดับ Consumer ทั่วไปจนถึงระดับ Hi-Fi เช่น TV , DAC หรือแม้แต่ใน Audio Interface หลาย ๆ รุ่นก็มีเช่นกัน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
การเชื่อมต่อ ระหว่างอุปกรณ์ในระบบเสียง
-
TS (x2) to RCA (x2)
ตามในภาพตัวอย่างนี้ คือ การเชื่อมต่อ ระหว่าง มิกเซอร์ เข้ากับเพาเวอร์แอมป์ และมิกเซอร์ เข้ากับลำโพง ในกรณีนี้เป็นการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ในระยะที่อยู่ไม่ไกลกันมาก เนื่องจากว่าสายสัญญาณ TS และ RCA ต่างก็เป็นสายสัญญาณแบบ Unbalanced ด้วยกันทั้งคู่ และเพื่อเป็นการลดต้นทุน เนื่องจากในท้องตลาด สายสัญญาณแบบ Balanced ค่อนข้างมีต้นทุกในการผลิตสูงกว่าสายสัญญาณแบบ Unbalanced ครับ
-
XLR (m) to TRS
ตามในภาพตัวอย่างนี้ คือ การเชื่อมต่อ ระหว่างมิกเซอร์ เข้ากับลำโพง / มิกเซอร์ เข้ากับเพาเวอร์แอมป์ และ DJ Controller เข้ากับมิกเซอร์ ในกรณีนี้สามารถใช้ได้ทั้งในระยะใกล้ และไกล โดยไม่สูญเสียคุณภาพสัญญาณ หรือเสี่ยงต่อการถูกรบกวนด้วย Noise เนืองจากว่าสายสัญญาณที่ใช้นั้น เป็นสายสัญญาณแบบ Balanced ครับ
-
XLR to XLR
ตามในภาพตัวอย่างนี้ คือ การเชื่อมต่อ ระหว่างไมโครโฟน เข้ากับมิกเซอร์ / มิกเซอร์ เข้ากับครอสโอเวอร์ / มิกเซอร์ เข้ากับลำโพง และครอสโอเวอร์ เข้ากับเพาเวอร์แอมป์ การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ด้วยสายสัญญาณ XLR เป็นการเชื่อมต่อรูปแบบหนึ่งที่ผมอยากแนะนำถ้าเป็นไปได้ เนื่องจากว่าสัญญาณเสียงที่ส่งไปผ่านสาย XLR ที่เป็นสายสัญญาณแบบ Balanced ทำให้มีความชัดเจน สะอาด นอกจากนี้ยังไม่เสี่ยงต่อการถูกลดทอนสัญญาณจากความยาวของสายครับ
-
XLR (F) to TS
ตามในภาพตัวอย่างนี้ คือ การเชื่อมต่อ ระหว่างไมโครโฟน เข้ากับมิกเซอร์ / มิกเซอร์ เข้ากับครอสโอเวอร์ / มิกเซอร์ เข้ากับเพาเวอร์แอมป์ และไมโคนโฟน เข้ากับเพาเวอร์มิกเซอร์ โดยใช้สายสัญญาณ XLR (F) to TS หรือในบ้านเราเรียกว่า “สายไมค์” เป็นการแปลงสัญญาณจาก Balanced > Unbalanced การแปลงในกรณีนี้จะใช้แค่เพียงสายสัญญาณขั้ว บวก และสายกราวด์ (Shield) เท่านั้น จึงไม่เกิดการกลับเฟสของสัญญาณ เพื่อแก้ปัญหาของ Noise แต่อย่างใด
-
XLR (M) to TS
ตามในภาพตัวอย่างนี้ คือ การเชื่อมต่อ ระหว่างมิกเซอร์ เข้ากับลำโพง / มิกเซอร์ เข้ากับครอสโอเวอร์ และมิกเซอร์ เข้ากับเพาเวอร์แอมป์ โดยใช้สายสัญญาณ XLR (M) to TS เป็นการเชื่อมต่อจาก Output ของอุปกรณ์หนึ่ง ไปเข้าที่ Input ของอีกอุปกรณ์หนึ่ง เช่น DSP ต่าง ๆ ด้วยการแปลงสัญญาณจาก Balanced > Unbalanced โดยมีหลักการเดียวกันกับสาย XLR (F) to TS ครับ
-
TS to TS
ตามในภาพตัวอย่างนี้ คือ การเชื่อมต่อ ระหว่างเครื่องดนตรี เข้ากับอุปกรณ์บันทึกเสียงอย่าง Audio Interface และอุปกรณ์ระบบเสียงบนเวที เช่น มิกเซอร์ , DI Box รวมถึงตู้แอมป์ โดยใช้สายสัญญาณ TS to TS ซึ่งเป็นสัญญาณแบบ Unbalanced เนื่องจากว่า Output ของเครื่องดนตรี และ Input ของอุปกรณ์เหล่านี้ ล้วนเป็นการรับ-ส่งสัญญาณแบบ Unbalanced ครับ
-
TRS (3.5mm) to TRS (3.5mm)
สายสัญญาณ TRS (3.5mm) to TRS (3.5mm) เป็นสายสัญญาณแบบ Unbalanced อีกหนึ่งประเภทที่หลาย ๆ ท่านเรียกว่า “สาย AUX” เป็นอีกหนึ่งประเภทสายสัญญาณที่ผู้ใช้ระดับ Consumer นิยมใช้ให้เห็นกันบ่อย ๆ สำหรับการเปิดเพลงจากสมาร์ทโฟน และในภาพตัวอย่างนี้ คือ การเชื่อมต่อ ด้วยสายสัญญาณ TRS (3.5mm) to TRS (3.5mm) ระหว่างอุปกรณ์สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และไมค์ Lavalier เข้ากับอุปกรณ์ต่าง ๆ
-
TRS (3.5mm) to XLR (x2)
ตามในภาพตัวอย่างนี้ คือ การเชื่อมต่อ ระหว่างอุปกรณ์สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต เข้ากับมิกเซอร์โดยการใช้สาย TRS ขนาด 3.5mm – XLR (x2) ถึงแม้ว่าจะมีหัวแจ็ค XLR ที่เป็นสัญญาณ Balanced ไม่ได้แปลว่าสายสัญญาณเส้นนั้นจะเป็น Balanced เสมอไป เนื่องจากว่า TRS (3.5mm) ประกอบไปด้วยสายสัญญาณขั้ว บวก 2 ขั้ว และสายกราวด์เท่านั้น ไม่มีสายสัญญาณขั้ว ลบ เป็นองค์ประกอบ ดังนั้นจึงเป็นสายสัญญาณแบบ Unbalanced นั่นเอง แต่ถึงอย่างนั้นก็สามารถส่งสัญญาณเสียงได้แบบ Stereo (2 ช่องสัญญาณ)
-
TRS (3.5mm) to TS (x2)
ตามในภาพตัวอย่างนี้ คือ การเชื่อมต่อ ระหว่างอุปกรณ์สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต เข้ากับมิกเซอร์โดยการใช้สาย TRS (3.5mm) – TS (x2) ที่เป็นสัญญาณแบบ Unbalanced เพื่อเปิด Playback หรือ Backing track แต่โดยรวมแล้วก็ใช้หลักการเดียวกันกับสายสัญญาณ TRS (3.5mm) to XLR (x2) ครับ
-
TRS (3.5mm) to RCA (x2)
สายสัญญาณ TRS (3.5mm) to RCA (x2) เป็นสายสัญญาณแบบ Unbalanced อีกหนึ่งประเภทที่หลาย ๆ ท่านเรียกว่า “สายลำโพง” แต่ความเป็นจริงแล้ว สายสัญญาณประเภทนี้มีการใช้งานที่หลากหลาย เป็นสายสัญญาณที่มักพบเห็นได้ทั่วไป ตั้งแต่การใช้งานภายในบ้าน จนถึงงานระบบเสียงกลางแจ้ง และในภาพตัวอย่างนี้ เป็นการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เข้ากับมิกเซอร์สำหรับการเปิด Playback หรือ Backing track เช่นเดียวกันครับ
สรุป
สายสัญญาณ และการเชื่อมต่อในระบบเสียง แม้ว่าจะมีหลากหลายประเภท หลากหลายวิธีการ แต่ละแบบต่างมีข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงต้นทุนที่ไม่เท่ากัน แต่ก็ไม่มีสายสัญญาณประเภทไหนที่ด้อยค่าไปกว่ากัน ล้วนต่างมีวัตถุประสงค์การใช้งานเป็นของตนเอง ดังนั้นเพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุด เรา AT Prosound ยินดีให้บริการคำปรึกษา และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง หรือหากท่านมีความสนใจ หรือต้องการติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรืองานติดตั้งระบบเสียงต่าง ๆ ท่านสามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ :
- Tel. : 098-785-5549
- Facebook : AT prosound-shop
- Line : @atprosound
- E-mail : [email protected]
เวลาทำการ
Monday | 9:00 — 18:00 |
Tuesday | 9:00 — 18:00 |
Wednesday | 9:00 — 18:00 |
Thursday | 9:00 — 18:00 |
Friday | 9:00 — 18:00 |
Saturday | 10:00 — 19:00 |
Sunday | Closed |
AT Prosound ยินดีให้บริการครับ
ติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook AT Prosound
บทความโดย : ณัฐพจน์ วิจารัตน์