Distortion ประเภทของเสียงแตกพร่า
AT ออนไลน์ไกด์, เกร็ดความรู้
5 ประเภทของเสียงแตกพร่า
Distortion ประเภทของเสียงแตกพร่า | อาการเสียงแตกพร่า หรือการบิดเบือนของเสียง เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสัญญาณเสียงถูกเปลี่ยนแปลง หรือเสริมเติมแต่งจนมีลักษณะผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับ ซึ่งมักจะพบได้ในระบบเสียงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องขยายเสียง เครื่องดนตรีไฟฟ้า หรืออุปกรณ์บันทึกเสียง
ในบทความนี้ เราจะทำความรู้จักประเภทต่าง ๆ ของเสียงแตกพร่า และการบิดเบือนของเสียง พร้อมทั้งอธิบายถึงสาเหตุ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เหล่านี้ การเข้าใจถึงลักษณะเฉพาะของเสียงแตกพร่าแต่ละประเภท จะช่วยให้เราสามารถประยุกต์ใช้ และควบคุมเสียงในงานดนตรี และการผลิตเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ลักษณะเสียงแตกพร่า เป็นอย่างไร..?
อาการของเสียงแตกพร่าก็คล้ายกับอาการคนเป็นหวัด เสียงจะมีความแตก ขาดความชัดกว่าเสียงปกติ เราสามารถควบคุม หรือเช็คสัญญาณว่ามีความแรงมากน้อยเพียงใด ด้วยการดูที่ VU Meter ซึ่งทำหน้าที่ตรวจวัดแรงดันของสัญญาณเสียงที่เข้ามาในอุปกรณ์
แต่อย่างไรก็ตาม.. เทคนิคนั้นอยู่ที่การฟังในรายละเอียดของเนื้อเสียง เพื่อให้รู้ว่าเสียงเกิดอาการแตกพร่าหรือยัง และอุปกรณ์เสียงนั้นมีความสามารถในการรับ Headroom ได้สูงสุดแค่ไหน
ทำความรู้จัก 5 ประเภทของเสียงแตกพร่า มีดังต่อไปนี้ :
1. ฮาร์มอนิก ดิสทรอชัน (Harmonic Dist.)
เกิดจากความผิดปกติในสัญญาณที่ป้อนเข้าสู่อุปกรณ์ เช่น แอมป์ที่ไม่เสถียร และส่งผลต่อฮาร์มอนิกของย่านความถี่ทำให้เกิดความผิดเพี้ยนขึ้น โดยใช้หน่วยเป็น THD (Total Harmonics Distortion) และใช้ % เป็นค่าวัด
2. เฟส ดิสทรอชัน (Phase Dist.)
เกิดจากการสะท้อนของเสียงหลาย ๆ ความถี่ที่วิ่งสะท้อนไปมาในห้องนั้น ต่างช่วงเวลากัน ก่อให้เกิดการหักล้างกันเอง มีผลทำให้คุณลักษณะ ของสัญญาณต้นฉบับเปลี่ยนไป หรือเกิดความไม่ชัดเจนของเสียง
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
3. ไดนามิก ดิสทรอชัน (Dynamic Dist.)
เกิดจากการเร่ง Gain หรือเพิ่มสัญญาณ Output ที่มากจนเกินไป เช่น Compressor หรือ Expander ซึ่งมีผลให้สัญญาณผิดเพี้ยนไป จากสัญญาณเสียงต้นฉบับ และเกิดเสียงแตกพร่าในที่สุด
4. ทรานเซียนต์ ดิสทรอชัน (Transient Dist.)
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเสียง เช่น เสียงที่เกิดจากการ หวดอย่างรุนแรงที่หนังสแนร์ เราจะรู้สึกถึงอาการแตกพร่าหากฟังใกล้ ๆ หรือการจ่อไมค์ใกล้มาก ๆ มักจะพบในเครื่องดนตรีประเภทกลอง หรือฉาบ
5. โอเวอร์โหลด (Overload)
เกิดจากการที่สัญญาณที่ป้อนเข้าสู่อุปกรณ์สูงเกินกว่าที่อุปกรณ์จะรับได้ ทำให้เกิดการแตกพร่า หรือเกิดการ Clipping เช่น ใช้สัญญาณที่เป็น Line ป้อนเข้า Pre-mic ที่มีค่าความต่างในการรับสัญญาณอย่างมาก
สรุป
ในการมิกซ์ และการบันทึกเสียงที่ดีนั้นต้องระวังไม่ให้สัญญาณเสียงเกิดการดิสทรอชัน ซึ่งมักเป็นปัญหาที่เกิดจากความไม่ระมัดระวัง ในเรื่องของค่าความดังสัญญาณที่มีผลต่อ Headroom สูงสุดที่อุปกรณ์ หรือวงจรนั้น ๆ สามารถรับได้
ยกตัวอย่าง เรามีถังบรรจุน้ำอยู่ 200 ลิตร เปรียบเหมือนค่า Headroom แต่หากเราเติมน้ำลงไป 250 ลิตร ส่วนที่เกิน 50 ลิตรก็จะล้นออกมา ซึ่งอาการดิสทรอชันของเสียง ก็เปรียบเหมือนน้ำ 50 ลิตรที่เกินออกมานั่นเอง
ติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook AT Prosound
บทความ Distortion ประเภทของเสียงแตกพร่า โดย : ณัฐพจน์ วิจารัตน์